ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร ICC ที่ระดับ AA- แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 11, 2022 13:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล (ICC) ที่ระดับ "AA-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นและสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำในเครือ สหกรุ๊ปมาอย่างยาวนานรวมถึงสถานะผู้นำตลาดในกลุ่มสินค้าชุดชั้นใน

นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่คาดว่าน่าจะฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) อีกทั้งยังสะท้อนถึงภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทที่อยู่ในระดับต่ำ ตลอดจนสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และความยืดหยุ่นทางการเงินจากการมีพอร์ตลงทุนที่มีสภาพคล่องอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็มีปัจจัยลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงทั้งในธุรกิจสินค้าแฟชั่นและเสื้อผ้า รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นมาอย่างยาวนาน

บริษัทมีสถานะเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นและสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำในเครือสหพัฒน์มา อย่างยาวนาน โดยบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภทและมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับช่องทางการจัดจำหน่ายต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าของบริษัทกระจายตัวครอบคลุมทั่วประเทศ บริษัทจัดจำหน่ายสินค้าทั้งในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ร้านค้าทั่วไป และร้านค้าของบริษัทเองซึ่งครอบคลุมจุดจำหน่ายประมาณ 2,800 แห่งและเคาน์เตอร์บริการอีก 14,000 แห่งทั่วประเทศ โดยในช่วงปี 2562-2564 ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไปถือเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายหลักของบริษัทซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% และ 25% ของยอดขายรวมตามลำดับ

นอกจากนี้ บริษัทยังมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับเจ้าของแบรนด์สินค้าต่างประเทศและผู้ผลิตสินค้าภายในเครือสหพัฒน์ซึ่งทำให้บริษัทสามารถสร้างยอดขายในช่องทางการจัดจำหน่ายของพันธมิตรต่าง ๆ ได้อีกด้วย

  • การเริ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอีกครั้งช่วยผลักดันการฟื้นตัวของผลการดำเนินงาน

ในปี 2564 ยอดขายของบริษัทลดลง 13% มาอยู่ที่ 6.8 พันล้านบาทอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ก็มีสัญญาณการฟื้นตัวของยอดขายแม้ว่าสถานการณ์จะยังไม่กลับคืนสู่ภาวะปกติอย่างเต็มที่นัก

แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน แต่ในไตรมาสแรกของปี 2565 บริษัทก็มียอดขายเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยมาอยู่ที่ระดับ 1.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากมีแรงหนุนจากการคลายความกังวลเกี่ยวกับโรคโควิด 19 ตลอดจนโครงการกระตุ้นการจับจ่ายของรัฐบาล และการที่กิจกรรมต่าง ๆ กลับคืนสู่ภาวะปกติ

ในการนี้ ยอดขายเสื้อผ้าบุรุษตลอดจนชุดชั้นในและผลิตภัณฑ์ชุดกีฬาเริ่มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งเนื่องจากประชาชนจำนวนมากเริ่มกลับมาทำงานในสำนักงานหรือกลับมาเรียนในสถาบันการศึกษารวมถึงกลับมาทำกิจกรรมนอกบ้านและเริ่มมีการเดินทาง

ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าแนวโน้มการเติบโตดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 โดยคาดว่าอุปสงค์สินค้าแฟชั่นในห้างสรรพสินค้าจะมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ในปี 2565 และ 10% ต่อปีในช่วงปี 2566-2567 แต่รายได้ในปี 2567 จะยังคงต่ำว่าระดับรายได้ในปี 2562 ประมาณ 10% อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนซึ่งได้ส่งผลกระทบทำให้อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพของผู้บริโภคทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลในด้านลบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและผลการดำเนินงานของบริษัทได้

  • ช่องทางค้าปลีกใหม่ ๆ มีความแข็งแกร่งขึ้น

ช่องทางการซื้อสินค้าทางออนไลน์ (Online) และทางโทรทัศน์ (TV Home Shopping) ได้กลายมาเป็นช่องทางที่สำคัญในการรองรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคและเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลาปิดเมือง (Lockdown) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยในปี 2564 บริษัทมียอดขายผ่านช่องทางการจำหน่ายแบบใหม่ที่หลากหลายเหล่านี้ (Omni Channel) ที่ระดับประมาณ 705 ล้านบาท ซึ่งเติบโตที่ระดับ 36% เมื่อเทียบกับยอดขายจำนวน 518 ล้านบาทในปี 2563

นอกจากนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 รายได้ของบริษัทยังเติบโตอีก 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนอีกด้วย บริษัทได้ปรับปรุงขั้นตอนการชำระเงินให้ทำได้ง่ายขึ้นและให้ความสำคัญกับการสร้างประสิทธิภาพและความตรงต่อเวลาของกระบวนการจัดส่งมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า ทั้งนี้ ยอดขายจากช่องทางใหม่ ๆ เหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8.5%-10.0% ของยอดขายรวมของบริษัทในช่วงปี 2564 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2565

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์บนช่องทางออนไลน์และคัดสรรประเภทของผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับลูกค้าออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้นในขณะเดียวกันยังทำการตลาดแบบอีคอมเมิร์ซ (E-commerce Marketing) ร่วมกับพันธมิตรอีกด้วย แม้สัดส่วนของยอดขายรวมจะมีค่อนข้างน้อย แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่ายอดขายออนไลน์ของบริษัทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า

  • ยังคงเป็นผู้นำในตลาดชุดชั้นในสตรี

ยอดขายผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในถือเป็นสินค้าหนึ่งในสามกลุ่มหลักที่สร้างรายได้สูงสุดให้แก่บริษัท โดยคิดเป็นประมาณ 27%-32% ของรายได้ทั้งหมดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในของบริษัทครอบคลุมแบรนด์ที่มีชื่อเสียงหลายแบรนด์ เช่น Wacoal BSC ELLE และกุลสตรี

บริษัทมีสถานะทางการแข่งขันและส่วนแบ่งทางการตลาดในชุดชั้นในที่โดดเด่นเป็นพิเศษ โดยบริษัทยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดชุดชั้นในระดับกลางถึงระดับสูงซึ่งมีส่วนแบ่งรวมกันอยู่ที่ 57.3% ในปี 2564 โดยวัดจากยอดขายที่จัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ทั้งนี้ ความได้เปรียบในการแข่งขันที่แข็งแกร่งนี้เกิดจากการมีสินค้าวางจำหน่ายที่ครอบคลุมตลาดทั่วประเทศและสถานะแบรนด์ของ "Wacoal" ที่แข็งแกร่งของบริษัท

Wacoal ยังคงเป็นแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในที่เป็นผู้นำตลาดในประเทศไทยที่ขึ้นชื่อในเรื่องการสวมใส่ที่กระชับกับสรีระและใช้งานได้เป็นอย่างดีอีกทั้งยังมีตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้าสตรีวัยทำงาน ทั้งนี้ เฉพาะแบรนด์ Wacoal นั้นครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึงประมาณ 51.7% ในปี 2564 ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 51.3% ในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งทางการตลาดดังกล่าวยังถือว่าต่ำกว่าระดับ 54.4% ในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 บริษัทมุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการทำงานภายใน รวมถึงการบริหารจัดการแบรนด์ย่อยและช่องทางการตลาดเพื่อหลีกเลี่ยงช่องทางที่ทับซ้อนกัน รวมถึงมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายอีกด้วย ทั้งนี้ จากการมีเครื่องมือทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพและสภาพแวดล้อมทางการตลาดที่ดีขึ้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ายอดขายของ Wacoal จะฟื้นตัวและได้ส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูญเสียไปกลับคืนมา

  • เงินปันผลรับสนับสนุนกำไร

บริษัทมีพอร์ตการลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งให้ผลตอบแทนเป็นเงินปันผลกลับคืนมา ทั้งนี้ บริษัทมีเงินปันผลรับประมาณ 350-550 ล้านบาทต่อปีในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรายรับเงินปันผลคิดเป็นสัดส่วนสำคัญที่ประมาณ 50%-60% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัท

ในปี 2564 บริษัทมีเงินปันผลรับจำนวน 395 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 300 ล้านบาทในปี 2563 เงินปันผลจากบริษัทในกลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงแข็งแกร่งในปี 2564 และให้เงินปันผลในจำนวนมากที่สุด ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าการลงทุนจะให้เงินปันผลกลับมาที่ระดับ 400-520 ล้านบาทต่อปี โดยคาดว่าการดำเนินงานของธุรกิจส่วนใหญ่จะปรับดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีผลการดำเนินงานฟื้นตัวกลับมาและจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้เพิ่มขึ้น

  • ปรับกระบวนการการทำงานภายในกลุ่มเพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการทำกำไร

แม้ว่ารายได้ของบริษัทในปี 2564 จะลดลง แต่บริษัทก็มี EBITDA ที่ดีขึ้นที่ระดับ 628 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 10% จากระดับ 570 ล้านบาทในปี 2563 และมีอัตรากำไรต่อยอดขาย (EBITDA Margin) อยู่ที่ระดับ 8.9% ในปี 2564 เปรียบเทียบกับระดับ 7.1% ในปี 2563 โดยเป็นผลมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการทำงานของบริษัท ตลอดจนการมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง และการมีเงินปันผลรับที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร (SG&A) ก็ลดลงเหลือ 35.4% ของยอดขายทั้งหมดในปี 2564 จาก 35.8% ในปี 2563

ปัจจุบันบริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน รวมถึงการรณรงค์ส่งเสริมการตลาดออนไลน์ และการดำเนินมาตรการควบคุมต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในช่วงปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA Margin ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 9.0%-9.5% โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของยอดขาย ในการนี้ บริษัทมีความตั้งใจที่จะลดระดับสินค้าคงคลังและผลิตภัณฑ์ที่ล้าสมัยลงเพื่อปรับปรุงให้ผลกำไรจากการดำเนินงานดีขึ้น ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 0.8-1.0 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2567

  • มีสถานะทางการเงินแข็งแกร่งโดยมีหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับต่ำมาก

บริษัทมีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังและคงสถานะปลอดหนี้เงินกู้มาเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 บริษัทมียอดเงินกู้คงค้างรวมอยู่เพียง 35 ล้านบาทซึ่งเป็นเงินกู้ของบริษัทย่อยแห่งหนึ่งที่ใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนและมีภาระหนี้ที่เกิดจากการค้ำประกันให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องบางส่วนที่จำนวนทั้งสิ้น 432 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2565

เนื่องจากบริษัทไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนขนาดใหญ่และสามารถรักษาภาระหนี้ให้อยู่ในระดับต่ำมาเป็นระยะเวลานาน บริษัทจึงมีสถานะทางการเงินเป็นเงินสดสุทธิ (Net Cash Position) โดย ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.8 พันล้านบาทโดยเปรียบเทียบกับหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.6 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 3.6 พันล้านบาทอีกด้วย บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งจากการมีฐานทุนที่มีขนาดใหญ่ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 2.8 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2565 ทั้งนี้ ความต้องการในการใช้เงินทุนหลัก ๆ ของบริษัทนั้นคือการลงทุนซึ่งคาดว่าบริษัทจะมีการใช้เงินลงทุนประมาณปีละ 200-270 ล้านบาทในช่วงปี 2565-2567 ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังคงแข็งแรงและสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงมีเพียงพอในช่วงระยะ 3 ปีข้างหน้า

  • มีความยืดหยุ่นทางการเงินอยู่ในระดับสูง

บริษัทมีพอร์ตการลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วยการลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 24 แห่งและในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์อีก 107 แห่ง โดย ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีพอร์ตการลงทุนมูลค่ารวมประมาณ 2.06 หมื่นล้านบาท ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนในบริษัทในเครือสหพัฒน์ การลงทุนได้สร้างผลตอบแทนที่น่าเชื่อถือให้แก่บริษัทมาอย่างยาวนาน ในการนี้ บริษัทยังคงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องที่จำนวนประมาณปีละ 200-400 ล้านบาท ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นการร่วมลงทุนกับบริษัทในเครือสหพัฒน์และพันธมิตร

บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินอยู่ในระดับที่ดีจากการมีเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องสูง ทั้งนี้ เงินลงทุนของบริษัทในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 9.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 คิดเป็นจำนวนที่มากกว่าหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทซึ่งรวมถึงภาระค้ำประกันในบริษัทที่เกี่ยวข้องถึงประมาณ 20 เท่า

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

รายได้ในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% และจะเพิ่มขึ้น 10% ต่อปีในระหว่างปี 2566-2567

เงินปันผลรับจะอยู่ที่ระดับ 400-520 ล้านบาทต่อปีในช่วงประมาณการ

EBITDA Margin จะอยู่ในช่วง 9.0%-9.5%

เงินลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 670 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะในการเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นของเครือสหพัฒน์และจะยังคงรักษาความเป็นผู้นำตลาดที่แข็งแกร่งในผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในเอาไว้ได้ต่อไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นในขณะที่ยังคงนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง รวมทั้งรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและพอร์ตการลงทุนที่เข้มแข็งเอาไว้ได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินที่เป็นไปในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น หรือหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญและมากกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ ในขณะที่การปรับเพิ่มอันดับเครดิตนั้นอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ