IPOInsight: CH เปิดสูตรสำเร็จร่วม 100 ปีก้าวยืนหนึ่ง Food Tech

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 12, 2022 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แม้จะอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่อุตสาหกรรมอาหารยังคงสามารถเติบโตได้ดี บวกกับภาวะสงครามในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอาหารแปรรูปมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการส่งออกยังได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่า เป็นโอกาสให้ บมจ.เจริญอุตสาหกรรม (CH) เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ด้ววยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 160 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 20% ของจำนวนหุ้นสามัญภายหลัง IPO

*9 ทศวรรษผู้ผลิตอาหารแปรรูป

นายศักดา ศรีแสงนาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CH เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า บริษัทประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูปมายาวนานกว่า 96 ปี เริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อมายังรุ่นสู่รุ่น สร้างการเติบโตด้วยการเดินหน้าพัฒนาและออกสินค้าใหม่ที่หลากหลายอย่างสม่ำเสมอใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ 1) ปลากระป๋อง 2) ผลไม้อบแห้ง และ 3) ขนมคบเคี้ยว

"บริษัทเรากำลังย่างเข้าปีที่ 97 ซึ่งยุคนี้ก็นับว่าเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว เราเริ่มธุรกิจจากการผลิตน้ำปลา ซีอิ๊ว ขยายมาทำปลากระป๋อง จากนั้นก็ทำผลไม้กระป๋อง แต่พบว่าทำกำไรได้ไม่ดีก็เลิกผลิตไป เปลี่ยนมาเป็นผลไม้อบแห้ง ซึ่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่สร้างการเติบโตให้กับบริษัท"

ปัจจุบัน รายได้จากผลไม้อบแห้งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% โดยผลิตภัณฑ์หลักที่ทำยอดขายอันดับ 1 คือ มะม่วงอบแห้ง ส่วนปลากระป๋องทำสีดส่วนรายได้กว่า 10% และ ขนมคบเคี้ยว ที่เพิ่งเริ่มผลิตได้ประมาณ 2-3 ปี มีสัดส่วนรายได้ราว 0.5% โดยบริษัทเน้นการส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศกว่า 70% ในตลาดกว่า 50 ประเทศทั่วโลกเกือบทุกทวีป ซึ่งตลาดหลักคือสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย

*เปิดสูตรสำเร็จพัฒนาสินค้าใหม่ต่อเนื่อง-จับเทรนด์ Healthy Food

"ปกติแล้วอุตสาหกรรมอาหารเติบโตไปกับจำนวนประชากรของโลก ไม่ได้หวือหวามาก นอกจากจะมีผลิตผภัณฑ์ใหม่ ๆ รสชาติใหม่ ๆ ออกมา ซึ่งเป็นปัจจัยหลักให้เราเติบโตได้เพิ่มขึ้น เหมือนร้านอาหารดัง ๆ ออกเมนูใหม่ เราเติบโตไปแบบนั้นมากกว่าจะเติบโตแบบ organic"นายศักดา กล่าว

กลยุทธ์สำคัญตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท คือการออกสินค้าใหม่ ๆ มาตอบสนองลูกค้าอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีทีม Research and Development (R&D) ที่มีศักยภาพ ประกอบกับการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Business-to-Business (B2B) ทำให้บริษัทมีความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า และร่วมมือกับลูกค้าในการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ก้าวนำคู่แข่งอย่างน้อย 1 ก้าวตลอดเวลา

"เจริญอุตสาหกรรม มีชื่อภาษาจีนคือ "จินฮวย" ที่แปลว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใหม่อยู่เสมอ นี่คือกลยุทธ์ที่บรรพบุรุษให้เรามาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท แล้วเราก็ดำเนินการตามกลยุทธ์นั้น เราไม่เคยใช้กลยุทธ์ด้านราคาสินค้า แต่เราจะหาสินค้าใหม่ ๆ มาให้กับบริษัทเราอยู่ตลอดเวลา ยิ่งให้เร็วกว่าคู่แข่งซัก 1 ก้าว เราก็จะสามารถทำกำไรและสร้างการเติบโตให้กับบริษัทเราได้

รวมถึงการดูแลลูกค้า เนื่องจากขายเป็น B2B เป็นหลัก การดูแลลูกค้าค่อนข้างสนิทชิดเชื้อ เข้าคลุกวงใน และเนื่องจากเรามีจุดแข็งของเราเรื่องการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เราก็จะ Co-creation กับลูกค้า สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ กับลูกค้าอย่าสม่ำเสมอ เมื่อเขามีไอเดียมาบอกเราถ้าเราเห็นด้วยเราก็จะร่วมมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมา"นายศักดา กล่าว

นายศักดา กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทเดินกลยุทธ์ภายใต้ Vision ใหม่ที่ใช้มา 2-3 ปีแล้วอย่าง "Innovative Healthy Food" ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก ทุกคนต้องการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพในราคาเหมาะสม เราจึงได้เร่งวิจัยพัฒนาสินค้าในกลุ่มนี้ออกมาสู่ตลาด โดยที่ผ่านมาได้ออกสินค้าใหม่อย่าง Granola Ball ที่มีส่วนผสมหลักคือธัญพืชที่ดีต่อสุขภาพ , Plant-Based Snack ให้โปรตีนโดยไม่ต้องบริโภคเนื้อสัตว์ และผลไม้อบแห้งที่ใส่ Probiotics ทำให้ผู้รับประทานได้ประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร เป็นต้น

ปัจจุบัน บริษัทมีโรงงานในไทย 3 แห่ง คือ ท่าฉลอม ผลิตสินค้าทุกประเภท, ท่าทราย เป็นจุดรับวัตถุดิบมาปอกและตัดแต่ง และ แม่กลอง ผลิตกระป๋อง รวมกำลังผลิตราว 1 หมื่นตัน/ปี และ โรงงานในกัมพูชา ซึ่งผลิตผลไม้อบแห้งกำลังผลิต 2 พันตัน/ปี

*เป้าหมายแรกดันผลงานปี 65 ฟื้นกลับไปเท่าก่อนโควิด,คุมต้นทุน-บาทอ่อนรักษาระดับกำไร

นายศักดา กล่าวว่า แผนงานสำคัญในปี 65 นี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะฟื้นผลประกอบการกลับไปสู่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เพราะช่วงโควิดส่งผลกระทบทำให้รายได้ปรับลดลง แต่หลังจากโควิดคลี่คลายจะกลับไปเติบโตได้เหมือนเดิม เพราะความต้องการสินค้าของบริษัทกลีบมาเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ภาพรวมผลประกอบการในปี 62-64 บริษัทมีรายได้จากการขาย 1,656.76 ล้านบาท 1,634.47 ล้านบาท และ 1,442.28 ล้านบาท ตามลำดับ และกำไรสุทธิ 7.90 ล้านบาท 67.29 ล้านบาท และ 67.07 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 1/65 บริษัทมีรายได้จากการขาย 395.03 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 7.98 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทเดินหน้าแผนควบคุมและจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มต้นด้วยการวางแผนผลิตสินค้าตั้งแต่ในช่วงต้นปี เพื่อใช้คำนวณต้นทุนและจัดหาวัตถุดิบได้อย่างเหมาะสมเพื่อเริ่มจัดซื้อก่อนเข้าสู่ฤดูกาลผลิต และแม้ว่าในปัจจุบันบริษัทจะได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่ามามาชดเชยกับค่าต้นทุนที่ปรับขึ้น ทำให้ยังรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ 17-18% และอัตรากำไรสุทธิที่ 4-5%

"เราส่งออกกว่า 70% ทำให้ต้นทุนแม้จะเพิ่มขึ้นจริง แต่เมื่อเราล็อกต้นทุนไว้ได้ส่วนหนึ่ง ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนที่เราได้เปรียบมาชดเชยกัน ทำให้เราไม่ได้ต้องปรับราคากับลูกค้าต่างประเทศเลย"

นอกจากนั้น บริษัทยังมองโอกาสการหาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติมในต่างประเทศ โดยเฉพาะมะม่วง อย่างแถบอเมริกาใต้ เพื่อสร้างความหลากหลายและบริหารความเสี่ยงด้านวัตถุดิบ

*เข้า SET เพิ่มศักยภาพการแข่งขันสู่ผู้นำ Food Tech

นายศักดา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนี้ คือนำเงินไปใช้ในการปรับปรุงโรงงานผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต รวมถึงใช้ปรับปรุงคลังสินค้าเพื่อเพิ่มพื้นที่และรูปแบบการจัดเก็บวัตถุดิบ อีกทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม เพราะการทำผลไม้อบแห้งใช้ทุนหมุนเวียนค่อนข้างสูงเพื่อตุนวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้ารองรับการขายต่อเนื่องตลอดทั้งปี

"การเข้าระดมทุนครั้งนี้ นับว่าเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจอย่างแข็งแกร่ง ผ่านการคิดค้นและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ สอดคล้องไปกับแผนการเติบโตของบริษัทที่ต้องการก้าวสู่การเป็นผู้นำด้าน Innovative Healthy Food"

นายศักดา กล่าวว่า แผนระยะยาวในช่วง 3-5 ปีนี้ คงไม่ได้ทำอะไรที่แตกต่างไปจากที่ทำผ่านมา 96 ปีที่เป็นสูตรสำเร็จ นั่นคือ การพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ออกมาอยู่เสมอ นั่นคือสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่ในอดีตไปจนถึงอนาคต

แต่การเข้าตลาดหลักทรัพย์จะข่วยเปิดโอกาสให้เรามากขึ้นในการที่เราจะไปร่วมลงทุนในบริษัทด้านฟู้ดเทค และนำเทคโนโลยีเหล่านั้นกลับมาพัฒนาสินค้าของเรา รวมถึงจะไปซื้อหรือควบรวมกิจการกับบริษัทที่มีเทคโนโลยี เพราะกลยุทธ์ของเราคือนต้องวิ่งเร็วกว่าคนอื่น 1 ก้าวเสมอ

เท่ากับว่าเรายกระดับตัวเราเองให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป มีชื่อเสียงโปร่งใส อันที่สองคือเรามีเงินทุน อันที่สามคือเรามีความพร้อมเรื่องโรงงานผลิต จากนั้นเราเริ่มจะมองหาแล้วว่า มีบริษัทสตาร์ทอัพรายไหนบ้าง ที่มีเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกับเราที่สุด เพื่อนำเทคโนโลยีเหล่านั้น มาพัฒนาและต่อยอดให้กับสินค้าของเรา เมื่อเราเข้าไปแล้วก็จะเริ่มมองหา Food Tech รายไหนที่เข้ากับเราได้มากที่สุด"นายศักดา กล่าว

*ผสานความมั่นคงยาวนานบวกจุดแข็ง Innovative

นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน CH กล่าวา การที่ CH สามารถดำเนินธุรกิจมาเกือบ 100 ปีเป็นสิ่งตอกย้ำความมั่นคงของบริษัท ประกอบกับจุดแข็งในการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ทาง CH สามารถคิดค้นสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

"เจริญอุตสาหกรรม ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็น 1 ในปัจจัย 4 ของมนุษย์ และแม้ว่าในปัจจุบันจะอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก รวมถึงมีภาวะสงครามเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่กลับกลายเป็นโอกาสของบริษัท ที่ผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูป ทั้งผลไม้อบแห้งและปลากระป๋อง ทำให้ความต้องการของสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้น บวกกับเงินบาทที่อ่อนค่า ก็ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้า ขณะเดียวกัน CH ยังวิจัยและพัฒนาด้าน Innovative Healthy Food มาตลอด นับว่าเป็นการตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคตที่จะให้ความสำคัญกับอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น" นายสมศักดิ์ กล่าว

https://youtu.be/1DFjzYPRnFU


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ