บลจ.ไทยพาณิชย์ ออกกองหุ้นญี่ปุ่น RMF รับโอกาสฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้น IPO 9-16 ส.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 9, 2022 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า บริษัทเห็นโอกาสเติบโตจากการลงทุนในประเทศญี่ปุ่นที่ตลาดมีการปรับตัวตัวลงมาในช่วงก่อนหน้า และช่วงนี้หลายๆ บริษัทจดทะเบียนก็ได้ประกาศงบออกมาที่ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ จึงมองว่าตลาดญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้อีกในระยะถัดไป รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย จึงได้เปิดเสนอขายกองทุน RMF ใหม่ คือ SCBRMJAPAN กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นญี่ปุ่น แอคทีฟ เพื่อการเลี้ยงชีพ โดยเสนอขายครั้งแรกวันที่ 9-16 สิงหาคม 2565

นอกเหนือจากปัจจัยด้านราคาที่ย่อตัวลงมา ตัวบริษัทญี่ปุ่นเองก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้เข้ากับเทรนด์การลงทุนสมัยใหม่ เช่น Factory Automation, 5G & IOT, eCommerce, FinTech และ Health Tech เป็นต้น เพื่อเพิ่มโอกาส และสร้างศักยภาพในการเติบโตให้สูงขึ้น ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าส่งผลบวกให้ภาคการส่งออก ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจึงคาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ดี ทำให้หุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่น่าสนใจ และเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนทั่วโลกที่ต้องการกระจายสัดส่วนมายังภูมิภาคนี้

กองทุน SCBRMJAPAN เน้นลงทุนในกองทุนหลัก Goldman Sachs Japan Equity Partners Portfolio ซึ่งมีรูปแบบการบริหารเชิงรุก (Active Fund) ด้วยทีมงาน Native Japanese ที่เชี่ยวชาญครอบคลุมทุก Sector ของตลาดญี่ปุ่น โดยมีแนวทางการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในช่วง Regrowth Stage และหลีกเลี่ยงธุรกิจกลุ่ม Start-up ที่มักมีความผันผวนสูง และสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ตามสภาวะของตลาด

นอกจากนี้ กองทุนยังเน้นพอร์ตการลงทุนที่มีความเชื่อมั่นสูง (high-conviction) ประมาณ 25 - 40 ตัว จากการวิเคราะห์หลักทรัพย์รายตัวเชิงลึก (Bottom up) โดยให้น้ำหนักในหุ้นรายตัวสูงสุดไม่เกิน 10% และเลือกหุ้นคุณภาพดีที่ขนาด Market Capitalization ตั้งแต่ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เช่น Sony, Olympus, Tokyo Marine, Hoya และ Ajinomoto เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

"เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยได้แรงหนุนจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ที่ช่วยลดผลกระทบเงินเฟ้อ และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงธนาคารกลาง (BOJ) ยังคงยืนยันใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่อง เป็นผลบวกต่อการส่งออก และการท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่น

อีกทั้ง รัฐบาลยังมีแผนการลงทุนผ่านโครงการต่างๆ เช่น Green Energy, Digitalization, Semiconductor ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยหากเราพิจารณาข้อมูลในอดีตพบว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในระยะยาว ถึงแม้ว่าจะมีความผันผวนค่อนข้างสูงในระยะสั้น 1-3 ปีก็ตาม" นางนันท์มนัส กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ