GFPT คาด H2/65 ยอดขายโตไม่ต่ำกว่า 15% มาร์จิ้นฟื้น มองโอกาสเปิดตลาดซาอุฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 30, 2022 10:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระ ธิตยางกรุวงศ์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) เปิดเผยว่า แนวโน้มยอดขายในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะใกล้เคียงหรือมากกว่าครึ่งปีแรกเล็กน้อย โดยครึ่งปีแรกยอดขายเติบโตราว 15% ขณะที่คาดว่าการส่งออกไก่ยังคงเห็นปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการจากลูกค้าหลักในญี่ปุ่นและยุโรปที่ยังมีปริมาณการสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) เข้ามาค่อนข้างมากในไตรมาส 3/65

อย่างไรก็ตาม ตลาดในประเทศจีนยังไม่กลับมาฟื้นตัวมากนัก หลังจากเพิ่งเริ่มคลายล็อกดาวน์ไปเมื่อไม่นานมานี้และยังคงมาตรการ Zero Covid ทำให้ภาพรวมยังมีความไม่แน่นอน และเศรษฐกิจของจีนยังคงชะลอตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งคงจะต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 4/65 ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร แต่บริษัทยังมั่นใจว่ายอดขายทั้งปี 65 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เติบโต 15%

นอกจากนี้ ครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยหนุนจากราคาขายเนื้อไก่ที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากความต้องการบริโภคไก่เพิ่มกลับมาเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะจากการที่คนหันมาบริโภคเนื้อไก่ทดแทนเนื้อหมูที่กังวลโรคระบาด ASF เป็นปัจจัยที่เข้ามาช่วยชดเชยกับราคาต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผลกระทบสถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ทำให้ราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองซึ่งเป็นต้นทุนหลักของอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้น

แนวโน้มต้นทุนอาหารสัตว์ของบริษัทในช่วงไตรมาส 3/65 ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง เนื่องจากยังคงมีสต็อกข้าวโพดและถั่วเหลืองที่มีราคาสูงที่ต้องนำมาใช้ต่อเนื่อง แต่ขณะนี้ราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองในตลาดค่อยๆ ทยอยปรับลดลงมาแล้ว ซึ่งน่าจะเห็นผลต่อต้นทุนของบริษัทให้ลดลงและอัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 4/65 โดยบริษัทตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้นในปีนี้อยู่ที่ 14-15%

นายวีระ ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลซาอุดิอาราเบียเปิดรับสินค้าอาหารจากไทยว่า บริษัทมองว่าซาอุดิอาราเบียจะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มประเทศที่บริษัทจะขยายตลาดสินค้าเนื้อไก่เข้าไปจำหนาย เพราะมองว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีศักยภาพและจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของฐานลูกค้าในอนาคต จากก่อนหน้านี้บริษัทยังไม่เคยส่งออกเนื้อไก่เข้าไปขายในซาอุดิอาราเบีย โดยกลุ่มลูกค้าหลัก คือยุโรป ญี่ปุ่น และจีน

ด้านงบลงทุนของบริษัทในปีนี้วางไว้ที่ 1-1.2 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น เพื่อทำให้การผลิตเนื้อไก่มีคุณภาพ และสามารถรองรับความต้องการสั่งซื้อจากลูกค้าได้อย่างครอบคลุม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ