DUSIT เชื่อปี 66 พลิกกำไรหลังธุรกิจโรงแรมกลับมา 100%,ขยายธุรกิจอาหารเป็น 20-25%

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 9, 2022 18:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

DUSIT เชื่อปี 66 พลิกกำไรหลังธุรกิจโรงแรมกลับมา 100%,ขยายธุรกิจอาหารเป็น 20-25%

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี (DUSIT) เชื่อมั่นว่าในปี 66 จะพลิกกลับมามีกำไร โดยน่าจะเริ่มเห็นผลกำไรตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 66 เนื่องจากคาดว่าธุรกิจโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก จะกลับมาฟื้นตัวได้ 100% เมื่อเทียบกับปี 62 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด คาดจะสร้างรายได้ประมาณ 6 พันล้านบาท

ขณะที่คาดว่าในไตรมาส 4/65 ที่เป็นช่วงไฮซีซั่นท่องเที่ยว อัตราเข้าพัก (Occupacy Rate) ของโรงแรมในไทยจะปรับตัวดีขึ้นมาที่สูงกว่า 70% ขึ้นไป หลังจากเดือน มิ.ย.ฟื้นขึ้นมาที่ 53% ซึ่งดีกว่าภาพรวมของธูรกิจโรงแรมในประเทศที่มีอัตราเข้าพัก 42% ส่วนใตรมาส 3/65 ในเดือน ก.ค.อยู่ระดับที่ 64% แต่ในเดือน ก.ย.ไม่ค่อยดีเพราะเจอหน้ามรสุม ทั้งนี้ ประเมินว่าธุรกิจโรงแรมในปี 65 กลับมาฟื้นตัวได้ 75% จากปี 62

ทั้งนี้ ในปี 65 นี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้ว 5 ล้านคนหรือเฉลี่ยนวันละ 50,000 คน ในไตรมาส 4 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตามเป้าของรัฐบาลที่ 10 ล้านคน

นอกจากนี้ บริษัทก็ยังมีแผนขยายโรงแรมที่บริหาร โดยบริษัทได้เซ็นสัญญารับบริหารโรงแรมอีก 45 แห่ง (ไม่นับรวมวิลล่า)ในช่วง 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2570 จากปัจจุบันที่รับบริหารโรงแรม 47 แห่ง วิลล่า 285 แห่ง รวม 332 แห่ง (Properties) ใน 16 ประเทศ เมื่อรวมที่เซ็นสํญญาใหม่แล้วจะรวมเป็น 92 โรงแรมใน 20 ประเทศ ซึ่งมีประเทศใหม่ ได้แก่ เนปาล เมียนมา กรีซ อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย โดยะมีโรงแรมที่จะเปิดแน่นอนแล้ว 10-15 แห่ง ได้แก่ ในไทย ชื่อ อาศัย สาทร 12 เปิดสิ้นปี 65 หรือต้นปี 66 , ดุสิตธานีเกียวโต และ อาศัย เกียวโต คาดเปิดไตรมาส 3 หรือ 4 ปี 66, ในจีน คาดเปิด 2-3 แห่งในปีนี้ เป็นต้น

นางศุภจี กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศที่เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และวิกฤตพลังงานก็เป็นโจทย์ที่บริษัทกังวล แต่ก็ได้เตรียมแผนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอยู่ในไทยให้นานขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งการให้บริการของบริษัทก็ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพตลาดหลังเกิดการระบาดโควิด อย่างการดึงเสน่ห์ชุมชนหรือท้องถิ่นเข้ามาให้บริการ (Local Experience) ใส่ใจเรื่องสุขภาพ (Wellness) รวมทั้งเรื่อง Sustainability

กลุ่ม DUSIT ยังได้ขยายธุรกิจอาหาร ที่เข้ามาเสริมในพอร์ต โดยตั้งเป้าในช่วง 5 ปี (65-70) จะมีรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 15-20% และมีรายได้ในปี 70 ที่ 2,500 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหารขึ้นเป็น 20-25% จากมีรายได้ส่วนนี้เล็กน้อย ขณะที่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรมจะลดลงมาเป็น 60-65% (จากปัจจุบันอยู่ที่ 91-92%) และธุรกิจการศึกษา 7-8% (ปัจจุบัน 8-9%) ที่เหลือเป็นธุรกิจอื่น ๆ อาทิ พื้นที่เช่า 2-3%

โดยระหว่างในปี 68 DUSIT จะมีรายได้จากการโอนที่พักอาศัย ในโครงการดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค กว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจรับรู้ไม่หมด จากที่มียอดขายแล้ว 47% หรือประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นการขายในประเทศถือว่าพอใจ จากที่ตั้งเป้าในปีนี้ 55-65% ซึ่งขึ้นกับว่ารัฐบาลจะเปิดให้ต่างชาติเข้าซื้อได้มากน้อยเท่าไร

DUSIT วางงบลงทุน (CAPEX)ในธุรกิจอาหารในช่วง 5 ปีนี้จำนวนไม่เกิน 200 ล้านบาท ยังไม่รวมการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ขณะที่ในปีนี้ DUSIT มีงบ CAPEX รวม 184 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบปรับปรุงโรงแรม โดยไม่นับรวมโครงการใหม่ หรือคิดเป็น 2-3% ของรายได้รวม

นางศุภจี เชื่อว่า ธุรกิจอาหารมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยบริษัทใช้กลยุทธ์ Meger & Partnership ยกตัวอย่าง บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ที่เข้ามาลงทุน DUSIT Foods (DUSIT ถือ 75% OR ถือ 25%) ซึ่งมีบริษัทย่อยและมีพาร์ทเนอร์ร่วมด้วย ได้แก่ Dusit Gourmet (ถือ 100%) ที่เป็นครัวกลางผลิตซอสต่างๆ และบริการ Catering , Epicure (ถือ 70%)ทำ Catering สำหรับโรงเรียนนานาชาติในไทยและเวียดนาม, Kauai (ถือ 51%) เน้นอาหารสุขภาพ โดยขายในสาขา Virgin Active และเตรียมขยายเข้าตลาดออสเตรเลีย และประเทศแถบตะวันออกกลาง , Bonjour Bakery Asia (ถือ 55%) มี 60 สาขา (ในไทย 59 สาขาในจีน 1 สาขา) และลงทุนฝ่ายผลิตที่ปลวกแดง จ.ระยอง และ Savor Eats (ถือ 51%) เตรียมเปิดตัวในต้นปี 66

จากที่ DUSIT Foods ที่มีพาร์ทเนอร์หลากหลาย ทำให้สามารถ synergy กับ OR ได้ อาทิ นำเบเกอร์รี่ของ Bonjour ในร้านค่าเฟ่ อเมซ่อน , ร้าน Kamu โดยปัจจุบัน Bonjour ทำ B2B กับร้านแบล็ก แคนยอน ด้วยนำคอนเซ็ปต์ Bing Asia to the World

"ความร่วมมือกับ OR ถ้าเขาโต เราก็โตตามเขา เขาอยู่ที่ไหนเราก็ไป เราอยู่ไหนเขาก็ตามไป ดังนั้นการร่วมมือกับ OR เป็นการเติมเต็มให้กันและกัน เราสามารถนำ Product ในร้านอเมซ่อน หรือเอา Boujour เข้าน้าน Kamu หรือที่ OR ลงทุนในร้านโอกะจู๋ เราก็อาจจะนำน้ำสลัดมาใช้กับ Dusit Gourmet และหากมี Platform ของ DUSIT ก็สามารถขายผ่านออนไลน์ขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้" นางศุภจี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ