นักวิชาการกม.ชี้ชัดบอร์ดกสทช.มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตดีลควบรวม TRUE-DTAC

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 5, 2022 18:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิชาการกฎหมาย ระบุชัดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ตามประกาศปี 49 และปี 61 เพราะถือว่าเป็นการควบรวมกิจการในธุรกิจเดียวกัน และมีอำนาจการบริหาร ข้องใจส่งกฤษฎีกาตีความทั้งที่เป็นองค์กรอิสระ

นายณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนาวิชาการหัวข้อ"กสทช.กับหลักนิติธรรม ไม่ใช่นิติ(เพื่อ)ทุน และเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญในการกำกับดูแลคลื่นความถี่สาธารณะ"ว่า กรณีการควบรวมกิจการระหว่าง ทรูและดีแทคจะมีกฎหมายเกี่ยวข้อง ได้แก่ ประกาศเรื่องมาตารการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (ประกาศ 2549) , ประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (ยกเลิกโดยประกาศ 2561) และ ประกาศเรื่อง มาตารการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม 4 ธ.ค. 2560 ลงราชกิจจาฯ2561 (ประกาศ 2561)

โดยประกาศ 2549 กสทช.มีอำนาจสั่งห้ามควบรวมหรือให้ควบรวมแล้วกำหนดมาตรการ ดังนั้นเมื่อพิจารณากิจการของทรู และดีแทค เป็นผู้ให้บริการมือถือเหมือนกันตามที่บริษัทได้เปิดเผยสารสนเทศผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน

TRUE ถือหุ้นโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) 49.99% และChina Mobile 18.00% ขณะที่ TRUE ถือหุ้น 99.99% ในทรูมูฟ เอช ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาต ส่วน DTAC ถือหุ้นโดย Telenor Asia PTE Ltd 46.71%และ บริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด 18.33% และ DTAC ถือหุ้น 99.99% ในดีแทค ไตรเน็ต ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาต เมื่อรวมกิจการกันเป็นบริษัทใหม่ ก็จะถือหุ้นโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ 28.98% กลุ่ม Telenor Asia PTE Ltd และ บริษัท ไทยเทลโคฯ รวมถือ 27.35% และ China Mobile ถือ 10.43% โดยต้องเข้าซื้อหรือแลกเปลี่ยนหุ้น และบริษัทใหม่จะถือหุ้นในทรูมูฟ เอช 99.99% และดีแทค ไตรเน็ต 99.99%

ดังนั้น ถือว่าการควบรวมนี้เป็นการถือหุ้นเกินกว่า 10% ของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น และเป็นการควบรวมธุรกิจประเภทเดียวกัน จึงต้องขออนุญาตการควบรวมกิจการจากกสทช.

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC เป็นอำนาจของ กสทช.ในการพิจารณาเพราะเป็นองค์กรอิสระ ในการปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน แต่กลับไปถามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งทำให้สงสัยว่าทำไม กสทช.จึงเอาแต่บ่ายเบี่ยงในการพิจารณาการควบรวมกิจการดังกล่าว

และการตีความหนังสือจากคณะกรรมการกฤษฎีกาของนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช.รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.ว่าการให้ควบรวมกิจการทรู-ดีแทคเดินหน้าต่อไม่สะดุด โดยให้ยึดตามประกาศ กสทช.ปี 61 ไม่ต้องขออนุญาตจาก กสทช. เห็นว่าไม่ถูกต้อง และบิดเบือนข้อเท็จจริง

นายปริญญาชี้ว่า กรณีที่การควบรวมมีลักษณะรวมธุรกิจตามข้อ 8 ของประกาศฉบับปี 2549 และข้อ 9 ของประกาศฉบับปี 2561 ที่ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นการขออนุญาตไปในตัวเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ควบรวมธุรกิจเท่านั้น ไม่ได้ถือว่าเป็นการให้อนุญาต เพราะการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยการเข้าซื้อหรือถือหุ้นเกินกว่า 10% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นหรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ทั้งนี้ไม่ว่าจะกระทำโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือผ่านตัวแทนจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกสทช.

โดยผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะเข้าไปถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ที่คณะกรรมการพิจารณาว่าการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลดหรือจำกัดการแข่งขันการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการ กสทช.มีอำนาจสั่งห้ามได้ ทั้งนี้ กรณีนี้หากทรูกับดีแทคควบรวมกันจะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดมือถือเป็น 50.4% และเหลือผู้ให้บริการ 2 ราย ส่วนบมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ถือเป็นรายเล็กมาก มีส่วนแบ่งการตลาดไม่ถึง 5%

"ถ้าพิจารณาการควบรวมว่าถือเกิน 10% ของผู้รับใบอนุญาตไม่ว่าทางตรงทางอ้อมหรือผ่านตัวแทน ประเด็นการพิจารณาก็แค่นี้เอง ท่านก็พิจารณาไปตามเนื้อผ้า คำถามว่าท่านกลัวว่าเข้าที่ประชุมจะควบรวมไม่ได้ จะมีผลตามมาต่อการปฏิบัติหน้าที่"

นายปริญญา กล่าวว่า ต้องการให้คณะกรรมการ กสทช.ทำหน้าที่นำเรื่องการควบรวมกิจการเข้าสู่การพิจารณา เพราะกสทช.มีหน้าที่ทำตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 60 ที่ต้องคำนึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ถ้าไม่ทำ เรื่องอาจจะต้องถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ดังนั้น วันที่ 12 ต.ค.นี้เมื่อ คณะกรรมการ กสทช.มานั่งพิจารณา และควรฟังเสียงทักท้วงผู้บริโภค หรืออย่างน้อยควรฟังคณะอนุกรรมการ 4 ชุดที่คณะกรรมการกสทช.ตั้งขึ้นมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ