สภาผู้บริโภคฯ แจกแจงประเด็นจ่อฟ้องศาลปกครองขอคุ้มครองระงับควบรวม TRUE-DTAC

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 21, 2022 18:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ตั้งโต๊ะแถลงประกาศเร่งดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้มีการไต่สวนเป็นกรณีพิเศษ หรือไต่สวนฉุกเฉิน กรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) ลงมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) พร้อมทั้งจะขอให้ศาลฯ มีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาด้วยการยับยั้งการควบรวมดังกล่าว

สภาองค์กรของผู้บริโภค นักวิชาการ นักกฎหมาย รวมถึงผู้บริโภคที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ต่างรู้สึกผิดหวังที่ กสทช. ไม่ใช้อำนาจที่มีในการพิจารณาเรื่องการควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC โดยบอร์ด กสทช.ที่ลงมติเสียงข้างมากในประเด็นนี้ ทั้ง ศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ซึ่งเป็นตัวแทนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ กสทช. ซึ่งเป็นตัวแทนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เลือกที่จะไม่ใช้สิทธิอำนาจของตนเอง

น.ส.สารี กล่าวว่า ประเด็นเรื่องที่กสทช. ไม่ใช้อำนาจของตน ไม่คิดว่าจะออกมาเช่นนี้ เพราะอย่างน้อยสิ่งที่กสทช. ดำเนินการมาในรอบหลายเดือนหลังได้รับการแต่งตั้งเดือน เม.ย. ได้มีการตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด มีที่ปรึกษาในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงข้อห่วงใยจากศาลปกครอง คำวินิจฉัยของกฤษฎีกา ซึ่งสิ่งที่ออกมาสะท้อนว่ากสทช. ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายเหล่านั้น และไม่ได้ใช้อำนาจของตนเองในการพิจารณา

"สิ่งที่ออกมาคืออย่างน้อย 2 ท่าน เข้าข่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อย่างน้อยควรชะลอ และให้เรื่องนี้มีการถกเถียงกับประชาชนมากกว่า คิดว่าหลังจากนี้สภาฯจะเปิดช่องให้ลูกค้าของทั้งสองบริษัทที่สนใจมาร่วมฟ้อง โดยการกรอกข้อมูลใน Google Form พร้อมแนบใบเสร็จการใช้บริการเพื่อยืนยันว่าเป็นลูกค้าจริง โดยเรื่องเหล่านี้ต้องรีบดำเนินการ เพราะมติของกสทช. ถือเป็นที่สุด อุทธรณ์ไม่ได้ และจะไปที่ศาลปกครองเลย" น.ส.สารี กล่าว

นอกจากนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคยังเห็นว่าเมื่อกสทช. ปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้ก็จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ดังนั้น จะทำการยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้วินิจฉัยว่าสิ่งที่ดำเนินการนั้น ถือเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบหรือไม่

น.ส.สารี กล่าวอีกว่า รายละเอียดของมาตรการที่ กสทช.กำหนดให้เอกชนทั้งสองรายต้องปฏิบัติการ ยังขาดมาตรการสำคัญปลายเรื่อง โดยเฉพาะการจัดการในเชิงโครงสร้างของกิจการโทรคมนาคม แม้จะเห็นด้วยกับเงื่อนไขการกำกับราคาค่าบริการ แต่ไม่เห็นด้วยที่ กสทช.ไม่ได้กำหนดให้มีการคืนคลื่นความถี่ตามที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช.เสนอให้คืนคลื่นบางส่วนที่อยู่ในมือของเอกชนทั้ง 2 ราย เพื่อนำมาเปิดประมูลใหม่

"สิ่งที่กสทช. ควรทำคือการป้องกันปัญหา หรือไม่อนุญาตให้ควบรวม มาตรการเท่าที่ดู เช่น เรื่องการกำกับราคาเป็นประเด็นที่อาจพอรับได้ แต่ กสทช.ไม่ได้กำหนดโครงสร้างอำนาจในการถือครองคลื่น ซึ่งควรเป็นประเด็นที่ควรมีการพิจารณา" น.ส.สารี กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องคลื่น 3G ซึ่งเหลือระยะเวลาอีกประมาณ 5 ปี ควรระบุให้ชัดเจนว่าไม่ให้ผู้ถือครองคลื่นในปัจจุบันเป็นผู้เข้าประมูลเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้มีรายใหม่เข้ามา และในส่วนของมาตรการกำกับราคาด้วยครอบคลุมถึง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ซึ่งเป็นอีกรายที่อยู่ในตลาดด้วย

ในส่วนของขั้นตอนของสภาองค์กรของผู้บริโภค จะมีคณะกรรมการ มีอนุกรรมการพิจารณาคดีในวันที่ 26 ต.ค. 65 และวันที่ 28 ต.ค. 65 จะประชุมกรรมการนโยบาย ระเบียบคือต้องให้คณะอนุกรรมการพิจารณาคดี และกรรมการนโยบายจะพิจารณาก่อนจะดำเนินการยื่นฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการน่าจะเร็วที่สุด

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า แม้จะคาดเดามติของ กสทช.ได้ตั้งแต่ต้น แต่ก็ยังผิดหวัง ดังนั้น จะเข้าร่วมสนับสนุนสภาองค์กรผูบริโภคที่จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองและยื่นป.ป.ช.กรณีที่ กสทช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยการบอกว่าตนไม่มีอำนาจ

กระบวนการของ กสทช.มีจุดน่าสงสัย 2 จุด คือ ผลของการลงมติที่ค่อนข้างแปลก ลงมติแบบ 2 ต่อ 2 ต่อ 1 และประธานมาชี้ขาดหรือเท่ากับออกเสียง 2 ครั้ง ซึ่งในการลงมติทั้งสองฝ่ายมีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด หรือก็คือ 3 จาก 5 แต่เมื่อวานนี้ลงมติเพียงแค่ 2 เสียง เท่ากับว่าการลงมตินี้จะต้องตกไป ดังนั้น กระบวนการลงมติในครั้งนี้มีปัญหาแน่นอน กสทช. จำเป็นที่จะต้องให้ความเห็นความกระจ่างเรื่องนี้ ก่อนที่จะไปสู่กระบวนการของในชั้นศาลปกครอง และ ป.ป.ช.

"สิ่งที่กสทช. ควรทำคือบอกให้คนที่งดออกเสียง กลับบ้านไปคิดมาใหม่ และเลื่อนการลงมติไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปของตนเอง ให้เกิดเสียงที่ 3 ขึ้นให้ได้ ไม่ใช่ให้กรรมการมาชี้ขาด ซึ่งการชี้ขาดก็ต้องเป็นอีกกรณีหนึ่งด้วย" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ประเด็นถัดมาเป็นเรื่องของกระบวนการการยื่นแจ้งการควบรวม เรื่องที่มาของที่ปรึกษาอิสระ มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้ที่มายื่นขอควบรวม

"นี่เป็นอีกหนึ่งความผิดพลาดเรื่องกระบวนการ ซึ่งอาจนำพาให้คำสั่งศาลปกครองในครั้งนี้เป็นโมฆะได้ เบื้องต้นมีทั้งหมด 3 เรื่อง เพราะยังไม่เห็นคำวินิจฉัยฉบับเต็ม เลยยังไม่ทราบว่าที่กสทช. สองท่านบอกว่า TRUE และ DTAC ไม่ใช่ธุรกิจประเภทเดียวกันนั้น เขาใช้เหตุผลอะไร เพื่อจะนำไปประกอบสำนวนคำร้องว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่การเร่งรัดปิดดีลในครั้งนี้มีเหตุผลทางการเมือง เพราะข่าวลือเรื่องการยุบสภาแพร่กระจายอยู่ตลอดเวลาว่าจะจะเกิดขึ้นหลังการประชุมเอเปค ก่อนหรือหลังปีใหม่ ซึ่งไม่มีใครรู้ ดังนั้น ดีลนี้จำเป็นที่ต้องทำให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า มองว่ามติกสทช. เป็นมติที่มีปัญหา มติสีเทา เป็นมติที่คลุมเครือ มีปัญหาในทางปฏิบัติ แม้แต่กับทาง TRUE หรือ DTAC เอง เนื่องจากเป็นการบอกว่ารับทราบแต่มีเงื่อนไข ซึ่งบังคับในทางกฎหมายได้เท่าไรนั้น เป็นเรื่องที่กสทช. ต้องตอบให้ชัดเจน ซึ่งถ้ามีมติว่าเห็นชอบแบบมีเงื่อนไขก็เข้าใจได้

ทางออกหลังจากนี้ดูมืดมน ผู้บริโภคจะไปพึ่งพาใคร เนื่องจากหลังจากนี้จะเหลือผู้ให้บริการเพียง 2 รายหลัก หากถามหาผู้รับผิดชอบ เมื่อหันไปหารัฐบาลก็บอกว่าเป็นเรื่องของกสทช. คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าก็บอกว่าเป็นเรื่องของ กสทช. แต่กสทช. กลับบอกว่าไม่มีอำนาจ แค่รับทราบ เป็นปัญหาทับถม จากเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีอยู่แล้ว ประชาชนกลับต้องมาแบกรับค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นอีก รวมทั้งจะส่งผลต่อสิทธิทางการเมืองด้วย เพราะถ้ากลุ่มทุนโทรคมนาคม 2 รายมีความผูกพันกับกลุ่มทางการเมือง จะทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจ ทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร สิทธิพลเมือง และข้อมูลส่วนบุคคล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ