TSTH คาดยอดขายเหล็ก H2 โตกว่า H1 แต่งวดปี 66 ลดลง 5% รับดีมานด์หดตัว-ต้นทุนพลังงานสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 2, 2022 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทาทา สตีล (ประเทศไทย) (TSTH) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดปริมาณการขายเหล็กในครึ่งปีหลังนี้ (ต.ค.65-มี.ค.66) จะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก (เม.ย.-ก.ย.65) ที่มีปริมาณการขายอยู่ที่ 611,000 ตัน เนื่องจากหมดช่วงฤดูฝน หรือภาวะน้ำท่วมไปแล้ว ขณะที่คาดแนวโน้มการขายไตรมาส 4 ของปีการเงิน 66 (ม.ค.-มี.ค.66) จะดีกว่าไตรมาส 3 ของปีการเงิน 66 (ต.ค.-ธ.ค.65) เนื่องด้วยในไตรมาส 3 ได้รับผลกระทบจากฤดูฝนที่มีต่อเนื่องมายาวนาน และมีน้ำท่วมด้วย ทำให้คาดว่าปริมาณการขายเหล็กจะทำได้ใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ของปีการเงิน 66 (ก.ค.-ก.ย.65) ที่อยู่ที่ 303,000 ตัน

ทั้งนี้ ยอดขายในครึ่งปีหลังที่จะดีกว่าครึ่งปีแรกนั้น บริษัทฯ คาดว่างานก่อสร้างของภาครัฐจะกลับคืนมาหลังจากหมดฤดูมรสุม และการเบิกจ่ายงบประมาณกลับมาดำเนินการอีกครั้ง เพื่อผลักดันนโยบายการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และโครงการสาธารณูปโภคเพื่อฟื้นฟูการเติบโตภายในประเทศและเศรษฐกิจ อีกทั้งในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ลูกค้ามีสินค้าคงคลังเหลือน้อย ทำให้จะมีการกลับมาซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวก็จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถผลักดันการขายได้ดีกว่าในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

ประกอบกับโดยทั่วไปในช่วงไตรมาส 3 และ 4 จะเป็นช่วงของการขายสำหรับภาคการก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัจจัยที่จะเข้ามาส่งผลกระทบอยู่ คือ อัตราเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับสูงราว 6%, ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น, เงินบาทที่อ่อนค่า จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบที่ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ

นายราจีฟ กล่าวว่า จากภาพรวมปริมาณการใช้เหล็กโดยรวมของประเทศในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค.) ปรับตัวลดลง 11.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงคาดการณ์ว่าปริมาณการขายปีการเงิน 66 ของบริษัทฯ น่าจะปรับตัวลดลงราว 5% เมื่อเทียบปีก่อนอยู่ที่ 1.33 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม TSTH มีความพยายามที่จะผลักดันการส่งออกเข้ามาชดเชยการขายในประเทศที่ชะลอตัวลง จากเดิมบริษัทฯ มีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 8-10% ของยอดขายรวม ขณะที่ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ได้มีการผลักดันการส่งออกขึ้นเป็น 14-15%

สำหรับแนวโน้มราคาขายเหล็กในไตรมาส 3 นี้ คาดปรับตัวลงต่อเนื่องอีก 1,000-1,500 บาท/ตัน จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 25,000 บาท/ตัน และไตรมาส 1 อยู่ที่ 28,000 บาท/ตัน จากความต้องการใช้เหล็กที่ลดลง และต้นทุนภาคพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่มองโอกาสราคาขายจะกลับไปสู่ระดับ 30,000 บาท/ตัน นั้นก็เป็นไปได้ยากมากในช่วง 1-2 ปีนี้ เป็นไปตามภาวะอุตสาหกรรมเหล็กที่ยังไม่ฟื้นตัว จากเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ