PRGคาดได้ปย.หลังราคาข้าวถีบสูงไม่มากเหตุสต็อกน้อย มั่นใจรายได้ตามเป้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 9, 2008 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี (PRG) คาดรายได้จากการขายในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย 2 พันล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่มีรายได้ 1.8-1.9 พันล้านบาท แม้ว่าราคาส่งออกข้าวที่ถีบตัวขึ้นสูงมากในขณะนี้จะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตข้าวถุง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ อาจทำให้ปริมาณการขายต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.2-1.3 แสนตัน ขณะที่ได้รับประโยชน์ในด้านราคาแค่ช่วงสั้น เนื่องจากมีสต็อกไม่มาก
แต่อย่างไรก็ตาม ในด้านผลกำไรสุทธิคาดว่าจะสูงกว่าปีก่อนกว่าเท่าตัว โดยเฉพาะเงินปันผลที่ได้รับจาก บมจ.เอ็มบีเค(MBK)ในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาก รวมทั้งผลจากด้านกลยุทธทางธุรกิจที่หันมาผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น อย่างข้าว"กาบาไรซ์"และการปรับปรุงขั้นตอนการผลิตและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย ทำให้ลดต้นทุนลงไปได้
นายสมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ PRG เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ทิศทางราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลดีต่อรายได้ของบริษัทตามปริมาณสต๊อกที่มีในขณะนี้ ซึ่งตามปกติจะสต็อกไว้ไม่มากนัก ในระยะยาวก็ยังต้องซื้อวัตถุดิบที่มีราคาสูงเข้ามา ทำให้รายได้ที่เป็นส่วนต่างจะไม่สูงมาก แต่ที่สำคัญคือความต้องการข้าวในตลาดที่มีสูงขณะที่ซัพพลายต่ำจะทำให้การแข่งขันมีโอกาสเปิดมากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าที่ส่งออก โดยเฉพาะกับคู่แข่งที่ในตลาดราคาต่ำอย่างเวียดนาม
"คงจะส่งผลดีระยะหนึ่ง ไม่มากนัก เพราะสต็อกเราไม่ได้มีมาก เดือนต่อเดือนประมาณ 7,000-8,000 ตัน/เดือน เพราะทางบริษัทเคยมีบทเรียนกับการสต็อกเยอะแล้วราคาลงจึงไม่มีนโยบาย สต็อก 1 เดือนมีการส่งสินค้าทั้งในและต่างประเทศ"
นายสมเกียรติ กล่าว
*ตั้งเป้ารายได้จากการขายปีนี้ที่กว่า 2 พันลบ.สูงกว่าปีก่อนที่ 1.8-1.9 พันลบ.
นายสมเกียรติ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้งวดปี 51 (ก.ค.50-มิ.ย.51)ไว้ในระดับ 2,000 ล้านบาทขึ้นไป จากปี 50 รายได้เฉียด 1,800-1,900 ล้านบาท ส่วนปริมาณขายคาดว่าจะลดลงประมาณ 10% เนื่องจากผลกระทบราคาข้าวสูง ซึ่งในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมามีปริมาณขาย 1 แสนตันลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตั้งเป้าในงวดปี 51 ไว้ที่ 1.2-1.3 แสนตันทั้งส่งออกและขายในประเทศ
"ยอดขายปีนี้ลดลงไปเพราะในครึ่งปีแรกในขณะที่ยังไม่มี press มาโหมข่าวเราก็ขายในราคาที่ fix เค้าแข่งขันกัน คนอื่นก็ยังไม่รู้ว่าข้าวราคาแพง จึงใช้ราคาเดิมอยู่ เราก็พยายามรักษาฐานลูกค้า เพราะฉะนั้นปริมาณของเราชะลอไป แต่รายได้เพิ่มขึ้นบ้างเพราะเป็นไปตามราคาตลาด"
ทั้งนี้ บริษัทขายปลีกส่วนใหญ่ทั้งการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ ถ้าเทียบราคาวัตถุดิบเรามีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าราคาวัตถุดิบในตลาดประมาณ 15-20% เพราะหากราคาตลาดข้าวหอมมะลิในปัจจุบันตันละ 30,000 บาท เราจะต้องขายประมาณ ตันละ 33,000-35,000 บาทตามต้นทุนการผลิตที่ต้องนำมาทำเป็นข้าวสารบรรจุถุงเป็น ก.ก.หรือ 1-2 ปอนด์ ซึ่งทำลักษณะ OEM และเป็นแบรนด์ตัวเอง ตลาดส่งออกส่วนใหญ่อยู่ที่ยุโรปและสหรัฐ มากกว่าในเอเชีย
สำหรับอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ประมาณ 15% แต่ในกรณีที่ต้นทุนวัตถุดิบปรับขึ้นจะบริหารอัตรากำไรขั้นต้นอย่างไรได้บ้างนั้น ก็พยายามบริหารให้ได้อัตรากำไรขั้นต้นที่สามารถที่จะครอบคลุมต้นทุนทางด้านต้นทุนคงที่(Fix cost)อื่นๆ เพราะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เป็นค่าใช้จ่าย fix อยู่
"ในตอนนี้นโยบายพยายามจัดการอัตรากำไรขั้นต้นให้ cover ค่าใช้จ่ายประจำ ไม่ต้องถึงกับขนาดที่ว่าตอนนี้จะต้องมีกำไรมาก เพราะตามนโยบายก็พยายามที่จะช่วยเหลือผู้บริโภคในประเทศอยู่แล้ว โดยขายในประเทศ 80% ส่งออก 20%"นายสมเกียรติ กล่าว
*คาดกำไรสุทธิปี 51 โตเท่าตัวจากปีก่อน เหตุรายได้เพิ่ม/หั่นงบปชส.
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ในแง่กำไรสุทธิถ้าเทียบในไตรมาส 2/51 กำไรเพิ่มขึ้น 100% แล้วจากเงินปันผลใน MBK ที่เพิ่มขึ้นมาราว 20 ล้านบาท และมีกำไรจากการลดต้นทุนอยู่บ้าง เนื่องจากมีการนำเอาระบบซอฟแวร์เข้ามาใช้ใหม่ และมีการดูแลระบบการวางแผนต่างๆ และพยายามลดต้นทุนการผลิตที่เป็น fix cost รวมทั้งการลดงบประมาณด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์
ให้คาดว่ากำไรสุทธิปีนี้เทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้นประมาณ 100%
"MBK เป็นบริษัทที่บอกเราว่าจะปันผลเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ก็นับว่ายังโอเคอยู่จากปีที่แล้วมีส่วนเพิ่มประมาณ 20 ล้านบาท และส่วนเพิ่มก็จะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี"
งวดปี 51 PRG มีกำไรสุทธิ 151.62 ล้านบาท
ประกอบกับ ในปีนี้ได้มีการเพิ่มเติมผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น ข้าว"มาบุญครองพลัส"ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิผสมธัญพืช และบริษัทใหม่ที่เปิดคือบริษัทอินโนฟู้ดส์ (ไทยแลนด์)นำข้าวหอมมะลิที่เป็นข้าวกล้องมาผลิตเป็น"ข้าวกาบาไรซ์"ที่เพิ่มสารอาหาร ทำให้บริษัทมีผลกระทบด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก
นายสมเกียรติ คาดว่า ในงวดปี 51 จะจ่ายปันผลมากกว่างวดปี 50 ที่จ่าย 2.50 บาท โดยในช่วงครึ่งแรกของงวดปี 51 จ่ายปันผลไปแล้ว 1.50 บาท/หุ้น สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่จ่าย 1.00 บาท/หุ้น
พร้อมกันนั้น บริษัทกำลังปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการมีฟรีโฟลตต่ำ เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่คือ MBK บริษัทแม่ถือหุ้น 75% และเครือธนชาต 15% ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยมีฟรีโฟลตในตลาดแค่ 5% แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีการแตกพาร์หรือไม่ จะต้องขึ้นกับความเห็นของผู้ถือหุ้นใหญ่
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ราคาหุ้นก็ปรับขึ้นมามากกว่า 100% โดย BV อยู่ที่ประมาณ 57 บาท ราคาเทรดอยู่ที่ 62 บาท พึ่งเป็นครั้งแรกที่ราคา market price สูงกว่า BV จากเดิมราคาหุ้นอยู่แค่ประมาณ 30 บาท ราคาค่อยๆ ปรับขึ้น
การลงทุนใหม่ตอนนี้กำลังทำร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมฯมูลค่าการลงทุน 50-100 ล้านบาท โดยสนง.จะเข้ามาร่วมถือหุ้น 20% ในอินโนฟู้ดโดยคาดว่าจะรับรู้รายได้จริงๆในปี 52 เบื้องต้นตั้งเป้ารายได้จากอินโนฟู้ด 50-100 ล้านบาท ไม่สูงมากเพราะกำลังการผลิตต้องค่อยๆ ขยายและดูตลาดด้วย แต่ปีนี้มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ เป็นรายได้จากการโปรโมทสินค้า
*สถานการณ์ข้าว
นายสมเกียรติ กล่าวว่า แนวโน้มราคาข้าวหอมมะลิน่าจะปรับตัวสูงขึ้นไปอีกจากระดับ 30,000 บาท/ตัน เนื่องจากซัพพลายมีจำกัดกว่าข้าวขาว หลังจากที่ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องจากตั้งแต่ปลายปีก่อน โดยทยอยขึ้นมาจาก 18,000-19,000 บาท มาที่ 23,000 บาทช่วงต้นปี และนิ่งที่ราคานี้อยู่ 2-3 เดือน และมาพุ่งอีกครั้งในช่วง มี.ค.-เม.ย.
ส่วนข้าวขาวช่วงต้นปีอยู่ที่ 13,000-14,000 บาท/ตัน ปัจจุบันอยู่ที่ 20,000-22,000 บาท/ตัน เป็นการปรับตัวขึ้นมาเร็วมาก
"แนวโน้มราคาข้าวหอมมะลิยังมีโอกาสขึ้นไปอีกเพราะหอมมะลิไม่มีซัพพลายเพิ่มเติมขึ้นมา กว่าจะออกอีกทีก็เดือนธ.ค.51 โอกาสที่ข้าวหอมมะลิจะเพิ่มขึ้นสูงมีมากๆ สำหรับข้าวขาวขณะนี้ราคาค่อนข้างพอประมาณ และข้าวขาวเป็นข้าวบริโภคภายใน
ถามว่าข้าวหอมมะลิราคาแพงหรือไม่ 50 บาท/ก.ก. ผมว่าเป็นไปได้ มีโอกาสเป็นไปได้สูง"นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ เชื่อว่า ข้าวขาวบริโภคภายในไม่น่าขาดแคลนเพราะข้าวนาปรังกำลังจะเข้าสู่ตลาด แต่ข้าวหอมมะลิปีนี้มีโอกาสขาดแคลน เนื่องจากมีการโปรโมทข้าวหอมมะลิไปต่างประเทศมาก ทำให้ต่างประเทศเริ่มหันมาบริโภคข้าวหอมมะลิของไทยและคนไทยเองก็หันมาบริโภคข้าวหอมมะลิมากขึ้น ขณะที่ซัพพลายของปีนี้ต่ำเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกของข้าวหอมมะลิส่วนหนึ่งเปลี่ยนไปปลูกข้าวเหนียวกันมาก
สำหรับผลกระทบจากราคาข้าวสูงต่อต้นทุนของบริษัทมีอยู่บ้าง แต่ในระยะนี้การผลิตข้าวสารบรรจุถุงยังมีสต๊อกเก่ามาผสมกับข้าวที่ซื้อเข้ามาใหม่ทำให้มีทั้งต้นทุนสูงและต่ำเฉลี่ยกันไป
"ตอนนี้ข้าวที่ซื้อมาราคา 30 บาท/ก.ก. ถ้าบวกับค่าจัดการค่าบริหารการผลิต โสหุ้ยการผลิต ต่างๆ ที่เราจะต้องมาปรับปรุงสินค้า ขาย 155 บาท คงจะไม่ได้ เพียงแต่เรามีสต็อกเดิมบางส่วนผสมกันไป ซึ่งสต็อกเดิมเริ่มทยอยซื้อขึ้นมาตั้งแต่ 27 -29 บาทมาเรื่อยๆ"นายสมเกียรติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ