KTC ลั่นปรับใหญ่แนวราบดันผลงานปีหน้านิวไฮ-พอร์ตทะลุแสนล้านปั้นกำไรทะยานสู่หมื่นลบ.ใน 5 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 29, 2022 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ากำไรสุทธิปี 70 จะเติบโตแตะ 1 หมื่นล้านบาท จากปี 65 ที่คาดมีกำไรสุทธิเติบโตเกิน 7,000 ล้านบาท หลัง 9 เดือนของปีนี้มีกำไรแล้ว 5,413.54 ล้านบาท ขณะที่ปี 66-67 บริษัทตั้งเป้ากำไรสุทธิเติบโตทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนพอร์ตสินเชื่อรวมปี 66 เติบโต 15% ทะลบุแสนล้านบาท ขณะที่หนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ในปีหน้าก็จะรักษาระดับให้ไม่เกินกว่า 1.7%

ทั้งนี้ในปี 66 จะเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งโครงสร้างองค์กร กลยุทธ์ กระบวนการ เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อขับเคลื่อนเคทีซีไปสู่รากฐานองค์กรที่แข็งแกร่ง ภายใต้แนวคิด "A Transition to the New Foundation" โดยการดำเนินธุรกิจของ KTC จากนี้จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิตและ ธุรกิจสินเชื่อไม่มีหลักประกันที่มีพอร์ตสินเชื่อในระดับ 10,000 ล้านบาทขึ้นไป, กลุ่มธุรกิจใหม่ที่คาดว่าจะสร้างรายได้แบบก้าวกระโดด (New SCurve) ได้แก่ สินเชื่อรถแลกเงิน เคทีซี พี่เบิ้ม และสินเชื่อกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง และกลุ่มโมเดลธุรกิจที่อยู่ในระหว่างการบ่มเพาะ (Incubator) เช่น MAAI - Loyalty Platform เป็นต้น

"ในปี 66 เคทีซีจะเริ่มปรับเปลี่ยนเพื่อเตรียมองค์กรให้เป็นโครงสร้างแบบแนวราบ (Flat Organization) และมีหน่วยงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อีกทั้งจะบูรณาการไอที (Information Technology) เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กรสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมทั้ง 3 มิติ คือ Enterprise Architecture การจัดการโครงสร้างให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งด้านธุรกิจ ด้านไอทีและระบบปฏิบัติการ Enterprise Skill Assets ส่งเสริมให้คนเคทีซีได้พัฒนาทักษะสำคัญด้านต่างๆ ที่สร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและเป็นประโยชน์กับองค์กร และ Enterprise Data Assets การบริหารจัดการข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การวางแผน การจัดเก็บ การเข้าถึงข้อมูลไปจนถึงการทำลายข้อมูล เน้นความปลอดภัย ถูกต้องและโปร่งใส เพื่อให้เคทีซีมีฐานข้อมูลคุณภาพ สนับสนุนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ"

สำหรับธุรกิจบัตรเครดิต ในปี 66 ตั้งเป้ามียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 10% หรือประมาณ 264,000 ล้านบาท จากปี 65 (ปัจจุบันโต 22% เกินเป้าหมายที่ 10% แล้ว) และคาดมีสมาชิกสมัครบัตรใหม่ 180,000 ใบ จากการวางกลยุทธ์การตลาดบัตรเครดิต จะเน้นแนวคิด Less is MORE หรือการทำสิ่งที่สำคัญเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยปรับกระบวนการทำงานในทีมการตลาดให้กระชับคล่องตัวมากขึ้น บน 5 แกนสำคัญ คือ

1. การบริหารพอร์ตลูกค้าให้มีคุณภาพมากที่สุด ด้วยการสร้างสรรค์โปรแกรมการตลาดเพื่อให้ลูกค้าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และการนำระบบออโตเมชั่น (Automation) เข้ามาใช้ในกระบวนการของการบริหารความสัมพันธ์กับสมาชิกบัตร 2. การเน้นขยายฐานลูกค้ากลุ่มรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 50,000-200,000 บาทขึ้นไป ด้วยสิทธิพิเศษด้านไลฟ์สไตล์ที่ตรงใจ 3. จัดโปรแกรมกระตุ้นการใช้จ่ายที่ตอบโจทย์ฐานสมาชิกบัตรเคทีซี เน้น 3 หมวดใช้จ่ายหลัก คือ หมวดร้านอาหารและร้านอาหารในโรงแรม (Dining & Hotel Dining) หมวดช้อปปิ้งออนไลน์และหมวดท่องเที่ยว นอกจากนี้เคทีซียังคงเดินหน้าความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจอื่นๆ ที่มีเป้าหมายทางธุรกิจเดียวกัน ในการทำกิจกรรมการตลาดที่ตอบโจทย์ทุกหมวดใช้จ่ายสำคัญของสมาชิก และเพื่อสร้างการจดจำและผูกพันกับแบรนด์

4. ร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นในการจัดแคมเปญการตลาดและกิจกรรมการขยายฐานสมาชิกบัตรในต่างจังหวัด 5. บริหารจัดการการสื่อสารการตลาด (Marketing Communications)ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยเน้นการทำคอนเทนท์ มาร์เก็ตติ้ง (Content Marketing) ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์เคทีซีให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

ด้านธุรกิจสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันฯ หรือธุรกิจสินเชื่อบัตรกดเงินสด "เคทีซี พราว" (KTC PROUD) คาดพอร์ตลูกหนี้สินเชื่อบุคคลสิ้นปี 66 จะเติบโต 7% และมีสมาชิกใหม่ เคทีซี พราว เพิ่มขึ้นเป็น 110,000 ราย จากการพัฒนาไปในทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบรับกับพฤติกรรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เริ่มที่การเปิดช่องทางให้ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านโมบายแอปฯ ในรูปแบบของใบสมัครออนไลน์ (Electronic Application) และช่องทางการเบิกถอนเงินสดออนไลน์ผ่านทางแอปฯ KTC Mobile ให้สะดวกขึ้น โดยเพิ่มบัญชีพร้อมเพย์ในการโอนเงิน นอกเหนือจากที่โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ 15 แห่ง และเพิ่มช่องทางเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการใช้สินเชื่อด้วยต้นทุนรับสมัครที่ต่ำแต่ได้ผลดี รวมทั้งเดินหน้าสร้างความผูกพันระหว่างเคทีซีกับกลุ่มสมาชิก ด้วยการต่อยอดกิจกรรมสัมมนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ และการส่งเสริมวินัยในการชำระ ผ่านโครงการเคลียร์หนี้เกลี้ยง

ส่วนธุรกิจสินเชื่อรถแลกเงิน เคทีซี พี่เบิ้ม ตั้งเป้ายอดอนุมัติสินเชื่อปี 66 ไว้ที่ 9,100 ล้านบาท จากปีนี้คาดทำได้ราว 1,000 ล้านบาท ส่งผลทำให้พอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถคงค้างปี 66 จะอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท โดยจะเน้นขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่มีข้อจำกัดด้านเอกสารและรายได้ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยธนาคารกรุงไทยกว่า 900 สาขาทั่วประเทศ จะเป็นช่องทางหลักในการรับสมัคร รวมทั้งแอปเป๋าตังค์ด้วย อีกทั้งจะเน้นการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ "เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน" ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ไปยังแพลทฟอร์มหลักต่างๆ

ขณะที่สินเชื่อกรุงไทย ลิสซิ่ง ตั้งเป้ายอดอนุมัติสินเชื่อปี 66 ที่ 3,000 ล้านบาท โดยคาดหวังมีกำไรจากสินเชื่อดังกล่าวได้บ้างในปีหน้า

นายระเฑียร กล่าวว่า บริษัทฯ วางงบลงทุนเบื้องต้นในปี 66 หลัก 100 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังมุ่งบริหารต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยจะมีการระดมเงินกู้ยืมระยะยาวประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 66 จำนวน 4,640 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเคทีซี โดยคาดว่าเมื่อสิ้นปี 66 เคทีซีจะมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมระยะยาว (Original Term) 20:80 และต้นทุนการเงินอาจเพิ่มขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากปี 65 อยู่ที่ 2.5%-3.0%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ