THCOM-NT-พร้อมเทคนิคคอล สอบผ่านเข้าชิงดาวเทียม 15 ม.ค. กสทช.คาดชุด 3 แข่งเดือด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 10, 2023 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

THCOM-NT-พร้อมเทคนิคคอล สอบผ่านเข้าชิงดาวเทียม 15 ม.ค. กสทช.คาดชุด 3 แข่งเดือด

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เห็นชอบผลการตรวจสอบคุณสมบัติ ประสบการณ์ และความสามารถทางด้านการเงินของผู้ขอรับอนุญาตสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมลักษณะจัดชุด (package) เพื่อเป็นผู้เข้าร่วมการคัดเลือก 3 ราย ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ในเครือ บมจ.ไทยคม (THCOM) , บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และ บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เชอร์วิสเซส จำกัด ทำให้ทั้ง 3 บริษัทมีสิทธิเข้าร่วมประมูลในวันที่ 15 มกราคม 2566

ทั้งนี้ กสทช. จะจัดการประมูลสาธิต (mock auction) ให้ผู้เข้าร่วมประมูลในวันที่ 14 มกราคม 2566

  • การประมูลครั้งนี้ ใช้วิธี Sequential Ascending Clock Auction คือ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องตัดสินใจตามระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละรอบ (20 นาที) ด้วยการเคาะ ซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ ผู้ชนะ คือ ผู้ให้ราคาสุดท้ายสูงสุด
  • ผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่ทราบว่าผู้ร่วมแข่งขันรายใดต้องการสิทธิวงโคจรชุดใดและมีความต้องการกี่ชุด รวมทั้งลำดับชุดในการการประมูลนั้น กสทช.จะกำหนดลำดับในวันประมูล เพื่อป้องกันการสมยอมกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งการประมูลในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด
  • รายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช.จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ทั้ง 3 รายผ่านคุณสมบัติเป็นบริษัทไทย มีประสบการณ์ เกี่ยวกับดาวเทียมสื่อสาร และมีความสามารถทางการเงินที่กำหนดให้มีแหล่งเงินทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น จากกระแสเงินสดของบริษัท หรือหนังสือรับรองจากธนาคาร

สเปซ เทค อินโนเวชั่น เป็นบริษัทลูกของ THCOM ส่วน พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส มีประสบการณ์ระบบดาวเทียม V-SAT บนแท่นขุดเจาะน้ำมัน และตรวจสอบแล้วว่าไม่มีความเกี่ยวโยงกับ THCOM แต่เคยร่วมทำธุรกิจกัน เช่นเดียวกับ NT ก็เคยทำธุรกิจหรือเป็นคู่ค้ากับ THCOM เช่นกัน

กสทช.คาดหวังการประมูลครั้งนี้จะมีผู้เข้าประมูลอย่างน้อย 3 ชุด (Package) ได้แก่ ชุดที่ 2 ,ชุดที่ 3 และชุดที่ 4 ซึ่งเป็นตำแหน่งวงโคจรที่มีโอกาสทางการตลาด รวมทั้งคาดว่าชุดที่ 3 จะแข่งขันกันสูง เพราะเป็นดาวเทียมบรอดแบนด์เพียงอย่างเดียว โดยชุดที่ 2 และ 3 จะประมูลได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท/ชุด จากทั้งหมดที่เปิดประมูล 5 ชุด ได้แก่

ชุดที่ 1 ตำแหน่งวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก มีข่ายงานดาวเทียม THAICOM-C1 และ THAICOM-N1 ที่มีสถานะขั้นสมบูรณ์ ซึ่งต้องนำคลื่นความถี่ขึ้นใช้งานบนดาวเทียมภายในวันที่ 27 พ.ย.67 และใช้งานคลื่นความถี่อย่างต่อเนื่อง และ 51 องศาตะวันออก มีข่ายงานดาวเทียม THAICOM -51 อยู่ขั้นต้น ยังต้องมีการประสานงานคลื่นความถี่ กำหนดราคาขั้นต่ำ 374,156,000 บาท ขั้นราคาต่อรอบ 18,700,800 บาท

ชุดที่ 2ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก มี 2 ข่ายดาวเทียม THAICOM-A2B สถานะขั้นสิทธิสมบูรณ์ ต้องนำขึ้นใช้งานบนดาวเทียมให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี และใช้งานต่อเนื่อง เคยเป็นตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งปลดระวางแล้วจากความเสียหายเรื่องเชื้อเพลิง และ THAISAT -78.5E ยังอยู่สิทธิขั้นต้น กำหนดราคาขั้นต่ำ 360,017,000 บาท ขั้นราคาต่อรอบเท่ากับ 18,000,850 บาท

ชุดที่ 3 ตำแหน่งวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก มี 3 ข่ายงานดาวเทียม ได้แก่ THAICOM-IP1 และ THAICOM-P3 สถานะขั้นสิทธิสมบูรณ์ โดย THAICOM-IP1 สามารถใช้สิทธิได้ภายหลังสิ้นสุดอายุวิศวกรรมดาวเทียมไทยคม 4 ในปี 66 และข่ายงานดาวเทียม THAISAT-119.5E ที่ยังสิทธิขั้นต้น รวมถึงตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออก มี THAISAT-120E สิทธิขั้นต้น กำหนดราคาขั้นต่ำ ที่ 397,532,000 บาท ขั้นราคา 19,876,600 บาท

ชุดที่ 4 ตำแหน่งวงโคจร 126 องศาตะวันออก มี 1 ข่ายดาวเทียม THAISAT -120E อยู่ในสิทธิขั้นต้น กำหนดราคาขั้นต่ำ 8,644,000 บาท ขั้นราคา 432,200 บาท เหมาะกับผู้ประกอบการขนาดเล็ก

ชุดที่ 5 ตำแหน่งวงโคจร 142 องศาตะวันออก มี 2 ข่ายงานดาวเทียม คือ THAICOM-G3K สิทธิขั้นสมบูรณ์ และ THAISAT-142E สิทธิขั้นต้น กำหนดราคาขั้นต่ำ 189,385,000 บาท ขั้นราคา 9,469,250 บาท

สำหรับข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการประมูลและยกสิทธิให้ NT ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐไปดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวว่า กสทช. เป็นองค์กรอิสระมีหน้าที่และอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้สอดคล้องตามแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม รวมทั้งตามนโยบายส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมในการประกอบกิจการดาวเทียม สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่นำมาประมูลในครั้งนี้เป็นการนำสิทธิที่ประเทศไทยมีอยู่เดิมและเคยให้บริการในเชิงพาณิชย์ จึงใช้วิธีการประมูลคัดเลือกผู้ขอรับการอนุญาต ซึ่งเป็นวิธีที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด

หากยกเลิกการประมูลและให้ NT เป็นดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว ย่อมส่งผลกระทบ ขาดความต่อเนื่อง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิจาก ITU ได้ กรณีที่ไม่สามารถส่งดาวเทียมได้จริง รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน กลับไปสู่การผูกขาด ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 วรรค 2 ที่บัญญัติให้ "รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือการจัดทำบริการสาธารณะ"

อย่างไรก็ตาม การประมูลครั้งนี้ กสทช.กำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องจัดช่องสัญญาณให้บริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในแต่ละชุดจำนวน 1 transponder กรณีดาวเทียม broadcast และจำนวน 400 Mbps กรณีดาวเทียม broadband ซึ่งหากเทียบกับสัมปทานเดิม รัฐได้รับทั้งหมดเพียง 1 transponder เท่านั้น ไม่ว่าจะมีดาวเทียมกี่ดวงก็ตาม รวมทั้งในชุดที่ 3 ยังเปิดโอกาสให้รัฐสามารถตั้งสถานีควบคุมบริหารจัดการดาวเทียมในส่วนที่รัฐรับผิดชอบได้ เป็นตัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ