Decrypto: การอำนวยความยุติธรรมของ ศาลออนไลน์ VS ศาล Metaverse

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 27, 2023 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาสำนักข่าว Reuters รายงานการพิจารณาคดีบน Metaverse ครั้งแรกในประเทศโคลอมเบีย (อาจจะเป็นครั้งแรกในโลก) โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีความดังกล่าว เช่น ผู้พิพากษา ทนายความ โจทก์และจำเลยจะเข้าร่วมการพิจารณาคดีโดยใช้ Avatar หรือตัวตนเสมือน ที่เป็นอีกระดับของการพิจารณาคดีในรูปแบบออนไลน์โดยทั่วไป ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการแสดงศักยภาพของเทคโนโลยีอีกครั้งหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตามจุดประสงค์สูงสุดของการพิจารณาคดีของศาลนั่นคือการหาข้อเท็จจริง การพิจารณาข้อเท็จจริงและอำนวยความยุติธรรม ซึ่งในปัจจุบันโดยเฉพาะการพิจารณาคดีในประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาหรือใช้เทคโนโลยีเพื่อการพิจารณคดีในศาล ทั้งนี้ ผู้อ่านที่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมก็อาจไม่ทราบว่าศาลในประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในศาลที่ใช้ระบบการพิจารณาออนไลน์ที่ก้าวหน้าที่สุด

เดิมศาลในประเทศไทยมีการใช้การสืบพยานออนไลน์ที่จำกัดเพียงเฉพาะในศาลชำนาญพิเศษ แต่ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำนักงานศาลยุติธรรมก็ได้ออกประกาศวิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้วิธีพิจารณาทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ทุกศาลทั่วประเทศไทยสามารถสืบพยาน หรือดำเนินกระบวนพิจารณาทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันหลากหลาย เช่น Google Meet, Cisco Webex หรือแม้กระทั่ง Line โดยสามารถใช้การสืบพยานหรือพิจารณาทางออนไลน์ได้ เช่น คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกที่ไม่มีผู้คัดค้าน คดีผู้บริโภค คดีมโนสาเร่ และคดีไม่มีข้อยุ่งยาก เป็นต้น

เมื่อคู่ความร้องขอและศาลเห็นสมควรก็จะอนุญาตให้ใช้วิธีพิจารณาแบบออนไลน์ได้ วิธีการเข้าร่วมดำเนินการพิจารณาของศาลประเทศไทยนั้นเรียบง่ายไม่ซับซ้อน กล่าวคือ คู่ความเข้าห้องพิจารณาออนไลน์ตาม Link ที่เจ้าหน้าที่จัดให้ โดยเจ้าหน้าที่จะเชื่อมสัญญาณระบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างศาลกับคู่ความที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ระบบและตรวจสอบความเหมาะสมของสถานที่และแจ้งขั้นตอน คู่ความหรือพยานต้องแสดงตนโดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนให้ปรากฎทางจอภาพของระบบ และให้เจ้าหน้าที่ทำการบันทึกภาพใบหน้าบุคคลนั้นพร้อมกับบัตรประจำตัวประชาชนเสนอศาลเพื่อเป็นหลักฐาน

โดยกรณีต้องการนำสืบหรือแสดงเอกสารหลักฐานสามารถแสดงเอกสารผ่านทางจอภาพของระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ตรวจสอบความถูกต้อง หรือให้นำเอกสารหรือภาพถ่ายที่ประสงค์จะนำสืบเป็นพยานหลักฐานเข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ และแสดงเอกสารทางจอภาพให้ ศาล พยาน และคู่ความทุกฝ่ายตรวจดูแบบ Share Screen และท้ายที่สุดหากคู่ความต้องการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลไทยก็เปิดโอกาสให้คู่ความทั้งสองฝ่ายแสดงเจตนาด้วยลงชื่อในสัญญาทางออนไลน์ได้ตามหลักเกณฑ์ของประเภทคดีที่กำหนดไว้อีกด้วย

ดังนั้นแล้วเมื่อพิจารณาขั้นตอนและวิธีการพิจารณาคดีของศาลในรูปแบบออนไลน์ของประเทศไทยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ายังไม่ปรากฎข้อขัดข้องกับการพิจารณาคดี หรือการอำนวยความยุติธรรม ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของศาลอีกทั้งรูปแบบกระบวนพิจารณาคดีออนไลน์ในปัจจุบันยังช่วยอำนวยความยุติธรรมให้ดียิ่งขึ้น การใช้รูปแบบวิธีการพิจารณาคดีใดจึงเป็นเรื่องรอง การพิจารณาคดีโดยใช้ศาลบน Metaverse อาจเกิดขึ้นอย่างเป็นปกติในอนาคตอันไกลหากการทำนิติกรรมหรือนิติสัมพันธ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นบน Metaverse มากขึ้น

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)


แท็ก ทนายความ   avatar  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ