Decrypto: กฎหมายกับ NFT

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 13, 2023 10:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

Decrypto: กฎหมายกับ NFT
แม้ช่วงนี้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกจะมีแต่ข่าว FUD (Fear, Uncertainty and Doubt) แต่ผลิตภัณฑ์ NFT (Non-Fungible Token) ที่ได้รับความนิยมจากนักสะสมกลับไม่ได้รับผลกระทบจากตลาดโดยรวมเท่าใดนัก ซึ่งปัจจุบันนี้ NFT ถูกใช้โดยเหล่าศิลปินหรือผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่าง ๆ ทั่วโลก เนื่องจากสามารถทำเงินได้เพิ่มขึ้นต่างจากการขายผลงานในช่องทางหรือรูปแบบเดิม ๆ เช่น ติ๊ก ชีโร่ นักร้องชื่อดังของประเทศไทยในอดีตที่นำเนื้อเพลง "รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง" ซึ่งโด่งดังและเป็นตำนานมาเปิดประมูลในรูปแบบ NFT ดังนั้น ผู้เขียนจึงอยากเล่าแนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับ NFT อย่างง่ายเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาเกี่ยวกับสินทรัพย์ประเภทดังกล่าวต่อไป
NFT เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง คือ ไม่สามารถทดแทนได้เหมือนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่น ๆ จึงสามารถนำไปผูกกับผลงานในโลกแห่งความเป็นจริงที่มีลักษณะเฉพาะตัวได้ เช่น ภาพถ่าย เนื้อเพลง หนังสือการ์ตูน เป็นต้น และกำหนดราคาขายกับผู้ซื้อหรือผู้ที่สนใจงานชิ้นนั้น ๆ ทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของโทเคน NFT ที่ผูกกับผลงานหรือสินค้านั้น ๆ อีกทั้งผู้ซื้อยังสามารถจำหน่าย NFT นั้น ๆ ต่อบนโลกออนไลน์ในราคาที่สูงขึ้น
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวที่คุณสมบัติของ NFT ในปัจจุบันจะถูกใช้เชื่อมโยงกับงานศิลป์ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะถูกใช้คุ้มครองงานนั้น ๆ ว่าไม่ถูกเลียนแบบ ทำซ้ำ หรือดัดแปลง โดยตรงแต่อาจไม่ได้รวมไปถึง NFT ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการซื้อขายนั้น ๆ ซึ่งผู้ซื้อ NFT ต้องศึกษาเงื่อนไขการซื้อขายอย่างละเอียดว่ามีสิทธิใดบนงานนั้น ๆ แต่ในทางปฏิบัติแล้วนั้นผู้ซื้อ NFT ก็ไม่อาจทราบได้ว่าผลงานที่ผูกกับ NFT นั้น ๆ เป็นลิขสิทธิ์หรือเป็นสิทธิของผู้ออก NFT นั้น ๆ หรือไม่ ซึ่งเห็นได้จากกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานคัดลอกผลงานตัวเองไปออก NFT ซ้ำเพื่อขายในตลาดรองต่าง ๆ
แม้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 จะไม่ได้มีการกำหนดเกี่ยวกับ NFT ไว้โดยเฉพาะเพียงแต่กำหนดลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ 3 ประเภทหลัก ๆ คือ คริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัลเพิ่อการลงทุน และโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ใช้บริการได้ทันทีหรือต้องรอสิทธิในอนาคต
ดังนั้น ในกรณีของ NFT อาจจะต้องพิจารณาลักษณะหรือคุณสมบัติของแต่ละเหรียญว่าเข้านิยามของสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายไทยหรือไม่ ซึ่งหากมีการกำหนดสิทธิการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจงนอกเหนือไปจากการได้สิทธิในตัว NFT เองก็อาจเข้านิยามของ โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์หรือ Utility Token ที่อาจต้องถูกกำกับโดย พระราชกำหนดดังกล่าว
แต่หาก NFT นั้นมีลักษณะเป็นทรัพย์สินเอง กล่าวคือ ไม่สามารถแยก NFT กับทรัพย์สินที่ผูกติดกับ NFT นั้น ๆ ได้ และไม่ได้มีการกำหนดสิทธิใด ๆ เพิ่มเติม เช่น ภาพดิจิทัลกับ NFT จะถูกโอนติดไปด้วยกันเมื่อถูกขาย NFT ดังกล่าวก็อาจไม่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลได้ถูกกำกับโดย พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
และเนื่องจาก NFT จัดเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งตลาดซื้อขายหรือเครือข่ายที่มีการให้ซื้อขายและเปลี่ยน NFT ต้องได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังไม่มีตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน NFT หรือ NFT Marketplace ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ อีกทั้งศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตในปัจจุบันก็ไม่สามารถนำ NFT เข้าซื้อขายได้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กธ. 18/2564
จึงน่าพิจารณาว่าเทคโนโลยี NFT ที่มีความพิเศษกว่าคริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัลที่เรารู้จักกันทั่วไป สามารถนำมาใช้กับธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากใช้เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนงานศิลป์เท่านั้น เช่น การใช้ NFT แทนโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิของราชการ จะมีการพัฒนาในทิศทางใดเนื่องจากกฎหมายของประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนหรือเปิดโอกาสให้นักพัฒนาสามารถใช้คุณสมบัติพิเศษดังกล่าวสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอนาคตต่อไป
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
และสุชาดา แย้มสินธิ์ ที่ปรึกษากฎหมาย กลุ่มบริษัทอเบอร์

แท็ก ศิลปิน   ศิลปะ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ