SINO คาดเปิดขาย IPO 292 ล้านหุ้น-เข้าเทรด SET ภายใน มิ.ย.66

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 25, 2023 12:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวจิรยง อนุมานราชธน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.ไซโน โลจิสติกส์ คอร์ปอเรชั่น (SINO) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ SINO คาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ได้ในช่วงกลางเดือน มิ.ย. และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.66 โดยมี บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ในครั้งนี้

วัตถุประสงค์เพื่อนำเงินจากการระดมทุนไปเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง จากแผนการลงทุนขยายพื้นที่บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศในอาเซียน ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (M&A) และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการของบริษัทฯ

SINO จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 292 ล้านหุ้น ประกอบด้วย 1.หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 240 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 23.08% ของจำนวนหุ้นหลัง IPO และ 2. หุ้นเดิมที่เสนอขายโดยนายเถิ่งฟ้ง เหยิ่ง จำนวนไม่เกิน 52,000,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 5% ซึ่งล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับหนึ่งแบบไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จุดเด่นของ SINO เป็นผู้นำในตลาดให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศครบวงจร, ทีม Management มีประสบการณ์ มีความเข้าใจ มีสายสัมพันธ์ที่ดี และมีความตั้งใจจริง เพื่อให้การบริหารงานในธุรกิจมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และคาด SCFI (Shanghai Containerize Freight Index) หรือดัชนีค่าระวางของตู้คอนเทนเนอร์น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเข้าลงทุน

ด้านนายนันท์มนัส วิทยศักดิ์พันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SINO กล่าวว่า แนวโน้มค่าระวางเรือในปีนี้น่าจะปรับตัวสูงขึ้น แต่อาจจะไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับ 1-2 ปีที่แล้ว จากความต้องการของปลายทางเริ่มกลับเข้ามา หลังจีนเปิดประเทศ และไทย ก็เริ่มได้อานิสงค์จากสินค้าบางประเภทที่มีการส่งออกมากขึ้น ส่งผลดีต่อตลาดหลักอย่างสหรัฐ รวมถึงจีน ก็เริ่มมีทิศทางทางที่ดี

ส่วนผลการดำเนินงานในปีนี้น่าจะยังมีแนวโน้มที่ดีแม้เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว แต่ด้วยปริมาณความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นก็เชื่อว่าจะหนุนผลงานได้ ส่วนราคาขึ้นอยู่กับ SCFI ขณะที่การเติบโตในระยะยาวบริษัทมีแผนขยายไปยังธุรกิจการขนส่งทางอากาศ (Air Freight) มากขึ้น ปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในการทำ M&A รวมถึงขยายธุรกิจไปในประเทศต่างๆ ทั้ง มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อเพิ่มเส้นทางขนส่งใหม่ๆ อีกทั้งขยายไปในตลาดยุโรปด้วย

"ในปี 66 ถือเป็นปีที่ท้าทายมากๆ แต่เราทำธุรกิจแบบเชิงรุก ไปถึงลูกค้าทั้งต้นทางและปลายทาง ซึ่งจะเห็นปริมาณของตู้คอนเทนเนอร์ที่มากขึ้น และสัดส่วนการขายของแต่ละธุรกิจที่มากขึ้น โดยธุรกิจ Sea Freight จะมีสัดส่วนจะลดลงมาอยู่ที่ 94% ที่เหลืออีก 6% จะมาจากธุรกิจอื่นๆ ทั้งการขนส่งทางอากาศ ภาคพื้นดิน คลังสินค้า" นายนันท์มนัส กล่าว

นางสาวอรชพร วิทยศักดิ์พันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ SINO กล่าวว่า บริษัทให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ชำนาญการให้บริการบนเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเลมากกว่า 100 ประเทศ ซึ่งมีตลาดหลักได้แก่ เส้นทางไทย-โซนอเมริกาเหนือ เส้นทางไทย-เอเชีย และเส้นทางไทย-ยุโรป ซึ่งถือเป็นเส้นทางหลักในการส่งออกและนำเข้าสินค้าหลักของการค้าโลก ทั้งในรูปแบบการขนส่งแบบเต็มตู้ (Full Container Load: FCL) และแบบไม่เต็มตู้ (Less Than Container Load: LCL) ด้วยมาตรฐานการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ โดยมี OTI License (Ocean Transport Intermediary) จาก Federal Maritime Commission (FMC) และได้วางหลักประกัน FMC Bond ทำให้สามารถทำสัญญาการบริการกับสายเดินเรือในการบริการขนส่งสินค้าไปยังประเทศแถบโซนอเมริกาเหนือได้ด้วยตนเอง ถือเป็นข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่ง โดยนำเสนอบริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพให้แก่ลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ และอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง เป็นต้น

บริษัทยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเล ได้แก่ PPL Network, WCA Inter Global และ X2 Logistics ที่มีสมาชิก 165 ประเทศ และเป็นสมาชิกสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) และสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย (CTAT) ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าในการรับบริการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และนำข้อมูลมาวางแผนบริหารจัดการธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตที่ดี นอกจากนี้ ยังได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการตลอดห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เช่น การนำระบบ WMS เพื่อใช้บริหารจัดการคลังสินค้า การพัฒนา ISO Tank ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุของเหลว การนำระบบ GPS เพื่อใช้ติดตามตำแหน่งรถในขณะปฏิบัติงาน รวมถึงบันทึกและควบคุมความเร็วในการขับขี่ให้มีความเหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในช่วงปี 62-65 บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการรวมทั้งสิ้น 627.98 ล้านบาท 883.57 ล้านบาท 4,683.41 ล้านบาท และ 5,906.53 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 165.62% โดยมีสัดส่วนรายได้มาจากการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเล คิดเป็น 87.55%, 91.47% 97.97% และ 97.50% ขณะที่ส่วนที่เหลือมาจากการบริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศและการให้บริการสนับสนุนงานบริการโลจิสติกส์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ