บิ๊กซี วางฤกษ์ขาย IPO-เข้า SET ปีนี้ รุกขยับขึ้นเบียดเบอร์หนึ่งในไทยควบคู่สยายปีกบุกตลาดจีน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 7, 2023 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บิ๊กซี วางฤกษ์ขาย IPO-เข้า SET ปีนี้ รุกขยับขึ้นเบียดเบอร์หนึ่งในไทยควบคู่สยายปีกบุกตลาดจีน

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) หลังจากยื่นไฟลิ่งไปแล้วในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอการพิจารณาจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้น IPO และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในปี 66

BRC ได้ยื่นไฟลิ่งเสนอขาย IPO จำนวนรวมไม่เกิน 3,730 ล้านหุ้น วัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้เพื่อนำเงินไปใช้ลงทุนขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ การชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน 5 ราย ได้แก่ บล.บัวหลวง บล.กสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บล.เกียรตินาคินภัทร และบล.ฟินันนซ่า

บิ๊กซี วางฤกษ์ขาย IPO-เข้า SET ปีนี้ รุกขยับขึ้นเบียดเบอร์หนึ่งในไทยควบคู่สยายปีกบุกตลาดจีน

นายอัศวิน กล่าวว่า แนวโน้มภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในครึ่งปีหลังของปี 66 ยังเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องในธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะกำลังซื้อจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาช่วยหนุน หลังจากการเปิดประเทศของไทยที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น และไทยถือเป็นประเทศ Top of mind ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศก็กลับมาคึกคักมากขึ้น ซึ่งเห็นจากยอดขายสาขาเดิมของบิ๊กซีที่กลับมาเติบโตขึ้นในไตรมาส 1/66 ที่ผ่านมา และยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง

กลยุทธ์ของบริษัทจะเน้นไปที่การปรับปรุงพัฒนาสาขาเดิมให้ทันสมัยมากขึ้น และเข้าถึงคนในยุคใหม่ มีพื้นที่ในการเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าต่างๆ พื้นที่สำหรับการใช้ชีวิต รวมถึงพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่างๆ ในบิ๊กซี เช่น การรีโนเวทใหญ่ของสาขาบิ๊กซี รัชดา เป็นบิ๊กซี เพลส ที่จะมีพื้นที่เช่าและพื้นที่ทำกิจกรรมที่สามารถใช้เวลาในห้างเพิ่มขึ้น

รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงสาขาในจุดแหล่งท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเลือกซื้อสินค้า เช่น การรีโนเวท บิ๊กซี ราชดำริ ซึ่งเป็นสาขาสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลของบริษัทเมื่อมีการรีโนเวทสาขาเดิมแล้วจะสามารถผลักดันให้ยอดขายสาขาที่รีโนเวทเพิ่มขึ้นได้ราว 7-8% โดยงบในส่วนของการรีโนเวทสาขาบิ๊กซีตั้งไว้ 2 พันล้านบาท/ปี ในช่วงปี 66-67

ขณะเดียวกันบริษัทยังมองโอกาสการเติบโตในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งบริษัทได้เข้าไปขยายธุรกิจแล้วทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งทั้งในลาวและกัมพูชา บิ๊กซีถือเป็นผู้นำในตลาดค้าปลีก ส่วนในเวียดนาม ถือว่าบริษัทเป็นเจ้าใหญ่ในธุรกิจค้าส่ง ซึ่งได้เข้าไปถือหุ้นใน MM Mega Market เวียดนาม และในอนาคตยังมีสิทธิเข้าไปถือหุ้นเพิ่มเพื่อนำผลการดำเนินงานของ MM Mega Market เข้ามารวมในผลการดำเนินงานของบริษัท

บริษัทยังคงเดินหน้ามุ่งการขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งตั้งงบลงทุนไว้ 1 พันล้านบาท/ปี ในช่วงปี 66-67 และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศเพิ่มเป็น 20-40% ของยอดขายรวม ภายใน 5-7 ปี จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศ 10% ของยอดขายรวม

นอกจากนี้กลุ่มลูกค้าชาวจีนยังถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญในการเพิ่มยอดขายของบริษัท โดยเฉพาะการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของพันธมิตรในประเทศจีน โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพูดคุยกับพันธมิตรจากจีนในการขยายความร่วมมือในการขยายช่องทางการจำหน่ายของบิ๊กซีผ่านเครือข่ายของพันธมิตร "ต่างประเทศยังมีโอกาสอยู่อีกมาก โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ต้องดูการขยายให้มีความเหมาะสม อย่างลาว ซึ่งใกล้กับไทยในจุดเชื่อมต่อใกล้กับไทย บางทีเขานักเครื่องบินมาซื้อก็สะดวกกว่า แต่ในลาวเรากำลังเตรียมเปิด Hyper Market ในเวียงจันท์ ซึ่งทำให้สาขาเราเข้าถึงคนในประเทศเขามากขึ้น การขยายในต่างประเทศถือเป็นการเดินหน้าในการเป็น Regional Retailer ให้กับบิ๊กซี" นายอัศวิน กล่าว สำหรับการเติบโตของผลการดำเนินงานของบริษัทยังเห็นการเติบโตต่อเนื่อง และฟื้นขึ้นมาหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย โดยในปี 65 ยอดขายสามารถเติบโตได้ 2.2% จากปี 64 และในช่วงไตรมาส 1/66 ที่ผ่านมา ยอดขายยังมีการเติบโตขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกำลังซื้อของคนในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้น และมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเริ่มทยอยเข้ามา ขณะที่ EBITDA margin มีการปรับตัวสูงขึ้นมาที่ 10.5% ในปี 65 และเพิ่มขึ้นมาเป็น 10.9% ในไตรมาส 1/66 จากการบริหารจัดการต้นทุนต่างๆของบริษัท ทั้งในด้านของระบบโลจิสติกส์ และต้นทุนด้านพลังงานที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในการขนส่ง รวมถึงการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท้อปบนหลังสาขาและศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท

นายอัศวิน กล่าวว่า บริษัทมองว่าต้นทุนค่าไฟยังถือเป็นปัจจัยที่ท้าทายต่อการบริการจัดการค่าใช้จ่ายและส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ซึ่งปัจจุบันยอมรับว่าการที่ต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทด้วยเช่นกัน แต่ค่าไฟอาจจะมีความผันผวนตามกลไกของราคา ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้บริษัทต้องหาทางเลือกในการบริหารจัดการต้นทุนในส่วนนี้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในส่วนของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยังอยู่ระหว่างรอติดตามนโยบายชุดใหม่ ทำให้ยังไม่สามารถประเมินได้ในตอนนี้ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร

"ค่าไฟก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่ท้าทายต่อการบริหารต้นทุน แต่เราก็หาวิธีการที่เข้ามาลดผลกระทบที่เรื่องนี้ และค่าไฟเองก็มีความผันผวนตามกลไก ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ แต่หากมองย้อนกลับไปถ้าค่าไฟตอนนี้เท่ากับปี 62 กำไรเราคงสูงมาก ส่วนค่าแรงที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นก็รอดูรัฐบาลใหม่ก่อน ตอนนี้ก็อยู่กับปัจจุบัน" นายอัศวิน กล่าว

สำหรับการแข่งขันในประเทศ บริษัทยังเดินหน้าในการขยายธุรกิจและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (Market share) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมี Market share เป็นอันดับ 2 ที่ 18.3% รองจากอันดับ 1 ที่มี Market share 28.2% และมากกว่าอันดับ 3 ที่มี Market share 8.7% กว่า 2 เท่า ซึ่งมีความท้าทายและพร้อมผลักดัน Market share ให้เข้าใกล้คู่แข่งรายใหญ่อันดับ 1 ต่อเนื่องในทุกๆปี ผ่านการรีโนเวทสาขาเดิม และการเปิดสาขาใหม่ให้ครอบคลุม รวมถึงการพัฒนาโมเดลร้านค้าที่เข้ากับลูกค้าในยุคใหม่ โดยที่วางงบลงทุนไว้ 1 หมื่นล้านบาท/ปี ในช่วงปี 66-67 ทั้งนี้ บริษัทมีสาขาในปัจจุบันรวมกว่า 1,718 สาขา ที่เป็นสาขาขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ส่วนร้านค้าในรูปแบบอื่นๆจำนวน 1,466 สาขา และมีพื้นที่เช่ารวม 1.05 ล้านตารางเมตร โดยที่กลุ่มบมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ได้เข้าซื้อบิ๊กซีในปี 59 และได้นำบิ๊กซีออกจากตลาดหลักทรัพย์ในช่วงต่อมาด้วยมูลค่าตลาด (Market cap) ราว 2.1 แสนล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ