BEC เชื่อมั่น H2 ดีกว่า H1 ส่ง "พรหมลิขิต" ดังตาม "หมอหลวง", มุ่งสู่ผู้นำผลิตคอนเท้นท์รายใหญ่

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 7, 2023 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) คาดว่าในไตรมาส 2/66 จะมีรายได้และกำไรดีกว่าไตรมาส 1/66 และไตรมาส 2/65 โดยคาดว่ารายได้ในไตรมาส 2/66 จะเติบโต Double digit เนื่องจากได้ละคร "หมอหลวง" ที่เลื่อนจากการออกอากาศในไตรมาส 1/66 ซึ่งนับเป็นละครเรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จในรอบ 3 ปีของช่อง 3 โดยผู้ชมในกทม.และหัวเมืองหลัก (urban) โดยเฉพาะผู้ชมหญิง ซึ่งก็ตรงกับผู้ชมหลักของช่อง 3 ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

นอกจากนี้ช่อง 3 ยังได้รายการข่าวที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อย่างช่วงดีเบตระหว่างพรรคการเมืองที่สามารถดึงเรตติ้งผู้ชมได้มากกว่าช่องอื่น อีกทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาก็ทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ทำให้ห้างร้านซึ่งเป็นลูกค้าช่อง 3 ก็ใช้โฆษณามากขึ้น

ส่วนในไตรมาส 1/66 ผลประกอบการแย่กว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน นำละครเก่ามารีรัน ถึงจะช่วยต้นทุนต่ำลงแต่ก็ไม่ได้มีรายได้มากนัก และต้นทุนธุรกิจสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อสูง ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาก็ไม่ค่อยสดใส โดยเม็ดเงินโฆษณาในสื่อโทรทัศน์ปรับตัวลง 10.9%จากไตรมาส 1/65 บริษัทจึงเลื่อนออกอากาศละคร "หมอหลวง" ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/66 BEC มีกำไรสุทธิ 3.7 ล้านบาท ลดลง 97.8% จากไตรมาส 1/65

ในไตรมาส 1/66 รายได้จากทีวีหลักๆมาจาก ละคร 51%(ลดลงจากไตรมาส 1/65 ที่มี 53-54%) รายการข่าว 36% (เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/65 ที่มี 27-28%) นอกนั้นและรายการวาไรตี้ และอื่นๆ รายการข่าวและละครจะมีสัดส่วนรายได้เกินกว่า 80%

นายสุรินทร์ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังปี 66 บริษัทคาดว่าผลประกอบการน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรกปี 66 เพราะจะส่งละครที่คาดหวังจะได้เรตติ้งได้มากเหมือน"หมอหลวง" ได้แก่ "พรหมลิขิต" (บุพเพสันนิวาส 2) , "เกมรักทรยศ" ซึ่งเป็นละครที่นำพล็อตเรื่องจากต่างประเทศมาทำใหม่ในเวอร์ชั่นไทย นอกจากนี้ก็ยังมีภาพยนตร์ที่ปีนี้สร้าง 3-4 เรื่อง และจะออกฉายในโรงภาพยนต์ 2 เรื่องในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 จากปีก่อนออกฉาย 1 เรื่อง (บัวผันฟันยับ)

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 66 เติบโต Double digit จากปีก่อนที่มีรายได้ 5,115 ล้านบาท แต่หลังเลือกตั้งก็รอความชัดเจนการเมืองทั้งการจัดตั้งรัฐบาล นโยบายรัฐบาล แต่ปีนี้ถึงจะมีการเลือกตั้ง เงินไม่สะพัดเท่าไหร่ นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังไม่มากพอ ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นจากผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครน การไม่ให้ปรับขึ้นราคาสินค้าของรัฐ กดดันให้มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาลดลง อย่างไรก็ดี ก็จะรอความชัดเจนทางการเมืองในไตรมาส 3/66 แต่เชื่อว่ากรณีเลวร้าย รายได้ก็ยังโตได้ 8-9% (high single digit)

ส่วนกำไรสุทธิในปี 66 คาดว่าจะต่ำกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 607 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาส 1/66 กำไรสุทธิหดตัวอย่างมาก และต้นทุนการดำเนินธุรกิจก็ยังสูงขึ้น โดยการถ่ายทำละครปัจจุบันทำได้ไม่เหมือนเดิม การระบาดของโควิดยังต้องระมัดระวัง

*มุ่งเป็นผู้นำการผลิตคอนเท้นท์รายใหญ่

นายสุรินทร์ กล่าวว่า แนวโน้มในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า คาดว่ารายได้จากการขายเวลาโฆษณาจากสื่อโทรทัศน์จะลดลงมาที่ 70% จากปัจจุบันรายได้จากทีวีเป็นหลัก 85-88% ขณะที่รายได้จากสื่อดิจิทัล เช่น 3 plus , youtube, facebook, tiktok รวมถึงการขายลิขสิทธิไปต่างประเทศ (GCL) มีสัดส่วนรวมกัน 12-15% จะเพิ่มากขึ้นเป็น 25% และอีก 5% จะเป็นภาพยนต์ที่สร้างเองโดยใช้ศิลปินของช่อง 3 ร่วมแสดง ,บริหารศิลปิน รวมถึงธุรกิจเพลงที่ใช้ศิลปินช่อง 3

เนื่องจากมองว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป ซึ่งขณะนี้ทีวีดิจิทัลเข้าสู่ปีที่ 10 เหลือเวลา 5 ปีกว่าจะหมดอายุสัมปทานทีวีดิจิทัล ซึ่งต่อไปก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องมีใบอนุญาตหรือไม่ และทีวีทุกวันนี้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ราคาทีวีถูกลงแต่มีคุณภาพดีขึ้น

ในส่วนละคร ช่อง 3 ได้วางงบลงทุนสร้างละครปีละ 2 -3 พันล้านบาท ปีละ 25 เรื่อง โดยแนวโน้มจะทำละครแนวโมเดิร์นมากขึ้น จากที่ทำละครจากนวนิยาย ก็จะเพิ่มมาทำละครที่ซื้อลิขสิทธิจากละครหรือซีรียส์ต่างประเทศมาทำในเวอร์ชั่นไทย ซึ่งการทำละครลักษณะนี้จะสามารถรู้ว่าควรจะขายโฆษณาอย่างไร และสามารถวางแผนการขายโฆษณาได้ง่าย รวมถึงจะนำดารามาเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าต่อเนื่องได้ ก็จะถือเป็นการบริหารศิลปินในค่ายด้วย นอกจากนี้จะจ้างทีมเขียนบทละครหาพล็อตละครได้เอง ซึ่งจะทำให้ละครมีความทันสมัย

ทั้งนี้ BEC ทำละครครั้งเดียวจะออกอากาศผ่านช่อง 3 , 3 Plus , 3 Plus premium ซึ่งคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีสมาชิก 3 แสนราย โดยไตรมาส 2/66 คาดมีจำนวน 1 แสนราย จากปัจจุบัน 7-8 หมื่นราย และยังผ่านสตรียมิ่งอื่น เช่น Netflix ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของบริษัท รวมถึงขายลิขสิทธิละครไปต่างประเทศซึ่งปัจจุบันกระจายไป 20-30 ประเทศ

นอกจากนี้รายการข่าวก็มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ลดความสำคัญของรายการวาไรตี้ลง ซึ่งมองว่ารายการวาไรตี้ถ้าไม่ใช่ตัวจริงอยู่ยาก

"เราไม่ใช่เป็นบริษัททีวีอีกต่อไปแล้ว ซึ่งถ้าเน้นทำทีวีต่อไปอย่างเดียวคงไม่มีทางรอด วิสัยทัศน์เปลี่ยนไปแล้ว เพราะฉะนั้น ทางรอดของเราก็คือ ทำตามวิสัยทัศน์ของเราว่าให้ content ที่เราผลิตอยู่แล้ว เป็น content ที่ตอบโจทย์ที่เรียกว่า Single Content Multiple Platform คือเราลงทุนหนึ่งครั้งแต่เราสามารถขายได้หลายๆแพลตฟอร์ม อันนี้เติบโตแน่นอน เพราะไม่ต้องพึ่งพาที่เดียว เราก็ควรจะเน้นทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เช่น Integrated Marketing วิธีการถ่ายทำละคร วิธีการนำเสนอ วิธีการหารายได้ ก็จะเปลี่ยนไป เขียนบทให้พร้อมก็ขายสปอนเซอร์ได้ง่าย และการก้าวออก Comfort Zone ของเรา เช่น การทำภาพยนต์ การบริหารดารานักแสดง" นายสุรินทร์กล่าวทิ้งท้าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ