SCGD รุกตลาดสุขภัณฑ์อาเซียน ชิงส่วนแบ่ง 7.8 หมื่นลบ.ขึ้นเบอร์หนึ่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 6, 2023 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SCGD รุกตลาดสุขภัณฑ์อาเซียน ชิงส่วนแบ่ง 7.8 หมื่นลบ.ขึ้นเบอร์หนึ่ง

นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสซีจี เดดคอร์ (SCGD) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนขยายตลาดในอาเซียน ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 78,700 ล้านบาทในปี 69 สูงกว่าตลาดในไทยกว่า 6 เท่าตัว จึงเป็นโอกาสของ SCG Decor คว้าโอกาสในตลาดนี้ ด้วยพัฒนานวัตกรรมสุขภัณฑ์ Smart Bathroom

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนขยายธุรกิจหลังเข้าตลาดหุ้น ได้แก่ ขยายธุรกิจสุขภัณฑ์ไปยังอาเซียน สู่การเป็นผู้นำตลาดอันดับ 1 ในอาเซียน ,เข้าสู่ธุรกิจตกแต่งพื้นอย่างเต็มตัวทั้งในไทยและอาเซียน เพิ่มผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากกลุ่มกระเบื้อง, ขยายไปสู่วัสดุที่เกี่ยวเนื่องทั้ง ยาแนว กาว รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ในห้องน้ำ, สร้างความสามารถในการแข่งขันให้มากยิ่งขึ้นในตลาดอาเซียน และสุดท้าย พัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG เช่นติดตั้งโซลาร์รูฟ รวมทั้งนำวัสดุเหลือใช้มา recycle นำกลับมาใช้ใหม่

SCGD รุกตลาดสุขภัณฑ์อาเซียน ชิงส่วนแบ่ง 7.8 หมื่นลบ.ขึ้นเบอร์หนึ่ง

สำหรับความคืบหน้าหลังยื่นไฟลิ่งนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายนำพลกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าหลังเข้าในตลาดหุ้นจะทำมี Free Float อยู่ที่ระดับ 26.8%

ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์อย่างครบวงจรในอาเซียน ที่มีฐานผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ในประเทศไทย ยังเป็นผู้นำอันดับ 1 ตลาดเซรามิคในประเทศเวียดนาม มีซึ่งส่วนแบ่งตลาด (Market Share) อยู่ที่ 26% และประเทศฟิลิปปินส์ Market share อยู่ที่ 17% ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียก็เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดอีกด้วย ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการรุกตลาดอาเซียน

นายนำพล กล่าวว่า หลังโควิด-19 ส่งผลให้วิถีใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปใน 3 ด้าน คือการคำนึงถึงสุขอนามัย ป้องกันเชื้อโรค (Hygiene) - ความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต (Convenience) ? การใช้ห้องน้ำเป็นพื้นที่แห่งการพักผ่อน (Entertainment/ Emotion) SCG Decor จึงได้พัฒนานวัตกรรมและออกแบบสินค้าเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าว เช่น กลุ่มธุรกิจตกแต่งพื้นผิว ได้พัฒนากระเบื้องฟอกอากาศพร้อมประจุลบในสารเคลือบกระเบื้อง กระเบื้องยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย กระเบื้องกันลื่น ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีทั้งในประเทศไทย เวียดนาม

ส่วนกลุ่มธุรกิจสุขภัณฑ์ได้พัฒนานวัตกรรมสุขภัณฑ์ Smart Toilet ที่มีระบบสัมผัสอัตโนมัติ ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศไทย โดยมองว่าตลาดสุขภัณฑ์ในประเทศไทยรวมถึง Smart Bathroom ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เช่นเดียวกับตลาดในอาเซียน

นายสิทธิชัย สุขกิจประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสุขภัณฑ์และก๊อกน้ำ COTTO เปิดเผยว่า เพื่อให้การดำเนินธุรกิจสุขภัณฑ์สอดรับกับกลยุทธ์หลักของ SCG Decor และความต้องการของผู้บริโภค COTTO จึงได้พัฒนาและสรรหานวัตกรรม "ดิจิทัล-ออโตเมชัน" สำหรับ Smart Bathroom จากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น สุขภัณฑ์อัตโนมัติ (Smart Toilet) รุ่น VIZIO นวัตกรรมเพื่อสุขอนามัยกับ "คอตโต้ ไอออนมิส" ด้วยน้ำประจุบวกที่ผ่านกระบวนการแยกประจุและพ่นเป็นละอองน้ำภายในโถสุขภัณฑ์ เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย ก๊อกน้ำอัจฉริยะ (Sensor Faucet) สั่งการแม่นยำ ลดการสัมผัส Smart Towel Dryer ราวตากผ้าอัจฉริยะระบบเป่าผ้าแห้งไว ลดการสะสมของเชื้อราสาเหตุของกลิ่นอับในห้องน้ำ พร้อมฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวีไม่ทำลายเนื้อผ้าและผิวสัมผัส ควบคุมด้วยแอปพลิเคชันจากสมาร์ทโฟน Smart Mirror TV กระจกอัจฉริยะมัลติฟังก์ชัน เชื่อมต่อความบันเทิงได้หลากหลายพร้อมเช็คข้อมูลสุขภาพประจำวันจากเครื่องตรวจสภาพผิวและเครื่องชั่งน้ำหนักวัดมวลกล้ามเนื้อ-ไขมันได้ทันที ชุดฝักบัวหน้ากว้างพร้อมแสงไฟ LED โดยไม่ต้องต่อไฟฟ้าและเชื่อมต่อเสียงเพลงได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ COTTO ยังได้นำระบบอัตโนมัติ หรือออโตเมชันมาใช้ควบคู่ไปกับการบริหารกำลัง การผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าได้รับสินค้าคุณภาพสูง ลดขั้นตอนการทำงานที่เสี่ยงต่อสุขภาพของพนักงาน ส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาทักษะและศักยภาพตนเองให้พร้อมสำหรับการขยายธุรกิจต่อไปด้วย

"COTTO ได้นำระบบออโตเมชันมาใช้ ภายใต้แนวคิด หุ่นยนต์ทำงานร่วมกับคน หรือ Man & Machine Automation Smart Factory นำความเชี่ยวชาญในการผลิตสุขภัณฑ์ มาสอน ออกแบบ และควบคุมให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้อย่างประณีต แม่นยำ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าคุณภาพสูง พร้อมกับการคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน โดยนำมาใช้ในกระบวนการผลิตหลัก ๆ อาทิ การขึ้นรูปหม้อน้ำสำหรับโถสุขภัณฑ์ด้วยเครื่องหล่อแรงดันสูง ที่ใช้สายพานและระบบลำเลียงอัตโนมัติ ช่วยลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บจากการทำงานในการเคลื่อนย้ายชิ้นงานด้วยแรงงานคน ระบบพ่นสีเคลือบอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์ ทำให้สีที่เรียบเนียนสม่ำเสมอได้มาตรฐานและยังช่วยลดการสัมผัส สูดดมสีของพนักงาน

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้นำเทคโนโลยีชั้นสูงอื่น ๆ มาใช้ในห้องปฏิบัติการทดสอบ เช่น เทคโนโลยีการประมวลภาพ หรือ Image Processing เพื่อเพิ่มความละเอียดแม่นยำในการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพสินค้าก่อนส่งถึงมือลูกค้า เป็นต้น"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ