IPOInsight: "คุกกี้มงคล" กล่องแดงในตำนาน KCG เจ้าตลาดเนย-ชีส

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 20, 2023 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"กิมจั๊ว พาณิชย์" เจ้าของแบรนด์ดัง "คุกกี้อิมพีเรียล" คุกกี้กล่องแดงที่รู้จักกันมาเป็นอย่างดีทุกยุคทุกสมัย อยู่ในธุรกิจยาวนานมากกว่า 60 ปี วันนี้กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ด้วยการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน คือ บมจ.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น (KCG) เสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 155 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 8.50 บาท และจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หมวดอาหารและเครื่องดื่มในวันที่ 3 ส.ค.66

KCG เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค ซึ่งเน้นผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและขนมตะวันตก (Western foods) โดยมี 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม (Dairy Products) กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการประกอบอาหารและเบเกอรี่ (Food and Bakery Ingredients) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ และกลุ่มผลิตภัณฑ์บิสกิต (Biscuits)

นายวาทิต ตมะวิโมกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ KCG เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า เงินระดมทุนส่วนแรกใช้เพื่อก่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า KCG Logistics Park บริเวณโรงงานที่บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งจะมีทั้งอาคารสำหรับจัดเก็บสินค้าแช่แข็ง (Frozen) 2 อาคาร และแบบอุณหภูมิห้อง (Ambient) 3 อาคาร และอาคารจัดเก็บวัตถุดิบในการผลิต จำนวน 1 อาคาร

"เงินระดมทุนส่วนแรกจะนำมาขยายตรงนี้ เราจะดูแลการเก็บรักษาเอง รักษาคุณภาพเอง ก็จะเป็นจุดแข็งอีกด้านหนึ่งของเรา" นายวาทิต กล่าว

เงินระดมทุนส่วนที่สองใช้ลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยวางแผนขยายกำลังการผลิตชีสจากเดิม 2,106 ตัน/ปี เป็น 4,212 ตัน/ปีในปี 66 ส่วนกำลังการผลิตเนยจากเดิม 18,596 ตัน/ปีในปี 64 เพิ่มเป็น 23,261 ตัน/ปีในปี 67

ส่วนแผนธุรกิจระยะยาว 3-5 ปี มีแผนเน้นไปที่ตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยจะใช้ความเก่งด้าน Logistics ที่ส่งสินค้าแบบควบคุณอุณหภูมิได้ มารองรับการขนส่งสินค้าได้หลากหลายประเภท ขณะเดียวกันก็มองเห็นโอกาสในตลาดต่างประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะประเทศที่มีประชากรจำนวนมากอย่าง อินโดนีเซีย ที่มีจำนวนการบริโภคเนยและชีสมากที่สุดในอาเซียน หรืออย่างใน อินเดียและจีนเราก็สนใจ

รวมถึงวางแผนออกสินค้าใหม่ ๆ รองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตั้งเป้าไว้ดังนี้ คือ 1) สินค้าที่เน้นความสะดวกให้กับผู้บริโภค ต้องใช้ง่าย มีแพ็คเกจจิ้งสะดวกในการใช้งาน 2) สินค้าที่เป็น Ready to Cook- Ready to Eat และ 3) สินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งวัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่

นอกจากนี้ต้องการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ (M&A) หรือการร่วมทุน (JV) โดยมองโอกาสตลอด Supply Chain ของเรา ทั้งธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัท

"วิสัยทัศน์ของเราเขียนไว้ว่าจะเป็นผู้นำของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมและอาหารรสเลิศ ซึ่งคำว่าผู้นำก็ต้องนำนวัตกรรมมาใช้นำเสนอผลิตภัณฑ์ และที่สำคัญจะต้องมียอดขายมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ซึ่งก็เป็นเป้าหมายต่อไปของเรา" นายวาทิต กล่าว
*KCG คือใคร ? (นาทีที่ 0.33 - 2.28)
*KCG กับการเติบโตของอุตสาหกรรม (นาทีที่ 2.29 - 3.09)
*KCG กับข้อได้เปรียบทางธุรกิจ (นาทีที่ 3.10 ? 4.05)
*KCG กับแผนหลังเข้าตลาดฯ (นาทีที่ 4.06 ? 9.53)

https://youtu.be/U3qPFLLXA7c


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ