ซีอีโอ TTB ชี้หนี้เอสเอ็มอีเพิ่มดัน NPL สูงกระทบเป็นลูกโซ่ลามไปถึงหนี้ครัวเรือน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 25, 2023 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) กล่าวว่า การเติบโตของประเทศไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากการบริโภค แต่เป็นการบริโภคที่เกิดจากการกู้มาใช้จ่าย ทำให้มาพร้อมกับภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีหนี้ภาคครัวเรือนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกมาตรการมาดูแล เพราะการบริโภคที่เกิดจากการกู้มาจับจ่ายไม่เกิดความยั่งยืนต่อเศรษฐกิจ

หนี้สินครัวเรือนของประชาชนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งจากเดิมธนาคารพาณิชย์ไม่ได้เข้าไปเล่นในตลาดนี้มากนัก แต่หลังจากเศรษฐกิจไม่เติบโต ลูกค้ารายใหญ่หันไปออกหุ้นกู้ และผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์โตมากขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเข้ามาเล่นในสินเชื่อบริโภคมากขึ้น แม้ว่าผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/66 จะออกมาดีจากรายได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่จะเห็นว่าต้นทุนที่เกิดจากหนี้เสียก็ปรับเพิ่มขึ้น เพราะสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังอยู่ในระดับสูง และหนี้ที่มาจากธุรกิจเอสเอ็มอีก็ยังเพิ่มขึ้น

หากมองไปที่ธุรกิจของธนาคารในต่างประเทศ เช่น ธนาคารในสหรัฐฯ ก็มีมาร์จิ้นที่เติบโตดี เพราะรูปแบบธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพื่อหาการเติบโต หากเทียบกับธนาคารไทยการเติบโตน้อย มาร์จิ้นน้อย และความสามารถในการแข่งขันก็ยังต่ำ จะเห็นได้จากวงเงินรับฝาก 14 ล้านล้านบาท ที่ธนาคารรับฝากมา และนำไปปล่อยสินเชื่อต่อ หากดูที่วงเงินปล่อยสินเชื่อ 6 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่ปล่อยให้ธุรกิจรายใหญ่ ซึ่งสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 40% ของจีดีพี วงเงินปล่อยสินเชื่อ 3 ล้านล้านบาทให้เอสเอ็มอี สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 30% ของจีดีพี และอีก 5 ล้านล้านบาทปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อย

สิ่งที่น่าสนใจ คือ วงเงินสินเชื่อที่ปล่อย 3 ล้านล้านบาท สามารถจ้างงานได้ 13 ล้านคน เมื่อเทียบกับปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ 6 ล้านล้านบาท หรือ 14,000 บริษัท สามารถจ้างงานได้ 5 ล้านคน สะท้อนโครงสร้างประเทศว่าวงเงิน 3 ล้านล้านบาท แต่เป็นนายจ้างกว่า 13 ล้านคน ที่สามารถสร้างการจ้างงาน และสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนได้ดีกว่า

"เราต้องคิดใหม่ทำใหม่ว่าธุรกิจใหญ่กับธุรกิจเล็ก หรือเล็กกว่า จะอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยอยู่ในรูปแบบดอกไม้กับแมลง ไม่ใช่ธุรกิจรายใหญ่ก็โตไป จนธุรกิจเล็กอยู่ไม่ได้ เพราะถ้าลูกจ้างเหล่านี้อยู่ไม่ได้ จากเหตุผลว่านายจ้างอยู่ไม่ได้ ก็ไม่มีคนซื้อของ เพราะธุรกิจใหญ่กว่า 14,000 ราย จ้างงาน 5 ล้านคน ขณะที่เอสเอ็มอีมีรายได้ 1 ใน 4 หากรายได้ตรงกลางหายไป ธุรกิจขนาดใหญ่ก็หายไปด้วย" นายปิติ กล่าว

ภาพสะท้อนจากธุรกิตเอสเอ็มอีที่ไม่ยั่งยืนจะส่งผลอะไรขึ้นบ้าง หากไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งจะกลับมาที่ว่าคนไทยมีรายได้ไม่พอจ่าย ต้องเป็นหนี้เรื่อยๆ ในส่วนนี้มีความเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของชาติ จะปล่อยให้กลไกเศรษฐกิจไทยเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆได้อย่างไร เพราะการมีหนี้ครัวเรือนที่สูง และคนก็เริ่มแก่ขึ้น ทำให้กระทบต่อประสิทธิภาพและผลิตภาพที่ไม่พัฒนา และในท้ายที่สุดก็ไปกระทบต่อรายได้ ซึ่งจะวนกลับมากู้เพื่อใช้จ่ายแบบนี้

ด้านการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือการเข้าสู่การลดคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ในส่วนของภาคธนาคารเปรียบเหมือนมดหายใจ โดยธนาคารแทบไม่ได้มีการสร้างการเปลี่ยนแปลงมาก แต่ธนาคาร คือ ต้นทางของการสร้างคาร์บอน ทำให้สิ่งที่ธนาคารควรทำไม่ใช่พาตัวเองเพื่อเป้าหมายสู่ Net Zero แต่ธนาคารควรสร้าง Empower ให้ธุรกิจสามารถเข้าสู่ Net Zero

"ความยั่งยืนไม่ได้เพื่อรางวัล แต่ต้องวัดผลได้ในทุกมิติ และการทำเรื่อง ESG เพื่อไล่ล่าต่อการเปลี่ยนแปลง ส่วนรางวัลที่ได้มาก็แสดงให้เห็นว่าเราสามารถไล่ล่าการเปลี่ยนแปลงและความยั่งยืนร่วมกันได้" นายปิติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ