MFEC รุกตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้โกยรายได้ปีนี้ 1.5 พันลบ. หนุนรายได้รวมโตกว่า 15%

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 6, 2023 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอ็ม เอฟ อี ซี (MFEC) เปิดเผยว่าบริษัทชูกลยุทธ์โซลูชันป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ภายใต้แนวคิด O3 (Observability, Orchestrator, Optimization) รุกตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตี้ (Cyber Security) ดันรายได้กลุ่มไซเบอร์ซีเคียวริตี้เติบโตประมาณ 25% แตะระดับ 1.5 พันล้านบาทในสิ้นปี 66 พร้อมตั้งเป้ารายได้รวมปีนี้เพิ่มขึ้น 15% จากปีที่ผ่านมาซึ่งมีรายได้ 5,453 ล้านบาท

"ตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้กำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากความต้อกงารของตลาดที่ผันเปลี่ยนไปในยุคดิจิทัลแทบทุกกลุ่มธุรกิจต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และมองหาโซลูชันที่สามารถช่วยเพิ่มความปลอดภัยและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยประสบการณ์ 26 ปีทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของ MFEC และบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้พร้อมที่จะนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ตรงประเด็นและเหมาะสมกับความต้องการลูกคา เราจึงได้รวบรวมสถานการณ์ปัญหาจริงที่เกิดขึ้นกับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยนำมาออกแบบกลยุทธ์ O3 เพื่อหาแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาได้จริงอย่างยั่งยืน" นายศิริวัฒน์ กล่าว

ปัจจุบัน ภัยไซเบอร์เพิ่มสูงขึ้นตามการปรับเปลี่ยนการทำงานขององค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกที่เปลี่ยนเป็นแบบไฮบริด ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของดิจิทัลฟุตพรินต์มากมาย ส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้มากขึ้น เพื่อรับมือและตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และมูลค่าความเสียหายที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมีทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

จากข้อมูลของตำรวจไซเบอร์พบว่าทุกๆวันจะมีผู้เสียหายกว่า 600 กรณี มูลค่าความเสียหายหลักพันล้านบาท โดยความเสียหายเกิดทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาภัยทางไซเบอร์ประมาณ 500 ล้านบาท ทำให้ถึงแม้ว่าภัยไซเบอร์จะเพิ่มมากขึ้นแต่กำลังซื้อของลูกค้าในการใช้ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ลดลง

บริษัทได้รวบรวมสถานการณ์ปัญหาจริงที่เกิดขึ้นกับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยนำมาออกแบบกลยุทธ์ O3 ที่สามารถควบคุมและแก้ไขปัญหาได้ครบทุกมิติตั้งแต่การป้องกัน การตรวจจับ และการแก้ไขเมื่อเจอภัยคุกคาม

Observability ? เสมือนมีผู้ช่วยสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวและติดตามหาหลักฐานของผู้โจมตีเพื่อป้องกันการถูกโจมตีทางไซเบอร์

Orchestrator - ตัวช่วยในการเชื่อมต่อและควบคุมการทำงานของ Software ที่มีความหลากหลายให้ทำงานเชื่อมต่อกันอย่างอัตโนมัติ ช่วยให้องค์กรสามารถกำกับและมองภาพรวมที่สามารถเปิด-ปิดการป้องกันภัยคุกคามได้อย่างง่ายดาย

Optimization ? ยกระดับความปลอดภัยให้ทุกองค์กรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ทำงานได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่บานปลาย

นายดำรงศักดิ์ รีตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กล่าวว่า กลยุทธ์โซลูชัน O3 เริ่มจากพื้นฐานประสบการณ์ของ MFEC และพันธมิตรคู่ค้าที่แข็งแกร่งกว่า 40 ราย ผนวกกับข้อมูลปัญหาและโซลูชันจากลูกค้าที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร โทรคมนาคม ด้านพลังงานและสาธารณูปโภค เป็นต้น นำมาบูรณาการและวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ปัญหาได้จริง

อย่างไรก็ตามความท้าทายของการป้องกันภัยไซเบอร์ปัจจุบัน คือการที่แฮคเกอร์มักจะก้าวนำหน้าองค์กร 1 ก้าวเสมอ จึงจำเป็นต้องเร่งการพัฒนาคนให้เท่าทัน รวมทั้งการขาดความสามัคคีในการทำงานร่วมกันขององค์กรในธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรเพื่อตัดวงจรการก่อเหตุทางไซเบอร์ โดยบริษัทมองว่าการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ของภาครัฐยังอ่อนแอ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ เพราะมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก และมูลค่าการป้องกันสูงถึงประมาณ 10,000 ล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิดรายได้ ดังนั้นจึงต้องมีแนวทางในการสกัดการจู่โจมและตอบโต้ภัยทางไซเบอร์

MFEC ในฐานะผู้นำตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้ระดับ Top3 ของประเทศไทย วางแผนที่จะต่อยอดธุรกิจผ่านการพัฒนาบุคคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ วิเคราะห์ระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีและองค์ความรู้ และเสริมสร้างฐานพันธมิตรคู่ค้า World Class Cyber Security Partner


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ