ฟิทช์ ประเดิมให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว FSX ที่ 'BBB+(tha)'

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 25, 2023 16:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ 'BBB+(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ 'F2(tha)' แก่บริษัท ฟินันเซีย เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ FSX โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต

อันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกับบริษัทลูกที่เป็นบริษัทหลักในการดำเนินธุรกิจ: อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ FSX พิจารณาจากโครงสร้างเครดิตของกลุ่ม ซึ่งสะท้อนจากอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทลูกที่เป็นบริษัทหลักในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ซึ่งคือ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSS ('BBB+(tha)'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ฟิทช์มองว่าความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของ FSX นั้นน่าจะอยู่ในระดับเดียวกันกับ FSS จากการที่ FSX มีอัตราส่วน double leverage ในระดับที่ไม่สูงมากนักและมีการบริหารจัดการด้านสภาพคล่องที่ค่อนข้างระมัดระวัง

FSX เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ด้วยสถานะบริษัทโฮลดิ้ง ของ FSS ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์มากกว่า 75% ของมูลค่าสินทรัพย์รวมของกลุ่ม อีกทั้ง FSX ยังมีบริษัทลูกขนาดเล็กอื่นๆที่ดำเนินธุรกิจด้านการเงิน ฟิทช์เชื่อว่าการผิดนัดชำระหนี้ของ FSX จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อชื่อเสียง การจัดหาเงินทุน และความน่าเชื่อถือทางเครดิตของบริษัทลูก ซึ่งรวมถึง FSS ด้วย

บริษัทโฮลดิ้งมีหนี้สินในระดับปานกลาง: ฟิทช์คาดว่า FSX จะสามารถรักษาอัตราส่วน Double Leverage ให้อยู่ต่ำกว่า 120% ได้ในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง ฟิทช์ยังคาดว่าธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งดำเนินกิจการโดย FSS นั้นจะยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สำคัญของกลุ่ม และไม่น่าจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ที่อาจบ่งชี้ถึงความจำเป็นในการมีเงินทุนสูงขึ้น นอกจากนี้ฟิทช์ยังเชื่อว่าไม่มีข้อจำกัดด้านเงินปันผลและการบริหารจัดการสภาพคล่องในกลุ่มระหว่าง FSS และ FSX และฟิทช์คาดว่า FSX จะได้รับเงินปันผลจาก FSS และบริษัทลูกอื่นๆที่มีความสามารถในการทำกำไร

มีการเชื่อมโยงอย่างต่อเนื่องกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจหลัก: อันดับเครดิตของ FSX ได้รับการพิจารณาจากการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดในด้านการบริหารจัดการและการดำเนินงานกับ FSS โดย FSX เป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดใน FSS (99.7%) และมีการใช้เครื่องหมายทางการค้าร่วมกัน ฟิทช์มองว่าการเชื่อมโยงดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ต่อเนื่องในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง

มุ่งเน้นในการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์เพื่อรายย่อย: อันดับเครดิตของ FSX พิจารณาจากการมีเครือข่ายธุรกิจหลักทรัพย์สำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่แข็งแกร่ง ฐานะเงินทุนและสภาพคล่องของ FSS ที่อยู่ในระดับพอเพียง แต่มีโครงสร้างธุรกิจที่พึ่งพารายได้ที่มีความผันผวนสูงตามสภาวะตลาด นอกจากนี้ทางกลุ่มยังคงมีความเสี่ยงในด้านการดำเนินงานตามแผนธุรกิจ (Execution risks) จากแผนการกระจายรายได้ไปในธุรกิจอื่น สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต และปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตในอนาคต สามารถดูได้จาก 'ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ที่ ?BBB+(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ' วันที่ 23 สิงหาคม 2566

ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน) อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ FSX จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอันดับเครดิตของกลุ่ม และเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศโดยฟิทช์ หากฐานะทางการเงินของ FSS หรือ FSX มีการปรับตัวอ่อนแอลงมากกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้ เช่น หากมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน net adjusted leverage ที่สูงกว่า 5 เท่า เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ประกอบกับการมีความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในด้านผลประกอบการและความสามารถในการสร้างกำไรสะสม อาจส่งผลให้โครงสร้างเครดิตของกลุ่มปรับตัวด้อยลง และนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตได้

การที่ FSX มีอัตราส่วน double leverage ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 120% บนฐานะทางการเงินของตัวบริษัทเอง การมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้นในการจ่ายเงินปันผลและเงินกู้ยืมจาก FSS มาสู่ FSX หรือ การบริหารสภาพคล่องที่แย่ลงของบริษัทโฮลดิ้ง เช่น การปรับลดลงของสินทรัพย์สภาพคล่องต่อหนี้สินระยะสั้นของบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของ FSX ได้ แม้ว่าอัตราส่วนทางการเงินโดยรวมของกลุ่มจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวอาจบ่งชี้ว่าบริษัทโฮลดิ้งอาจมีความยากลำบากมากขึ้นในการชำระหนี้สินเมื่อเทียบกับบริษัทลูกหลักในการดำเนินธุรกิจ

การปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญของสัดส่วนสินทรัพย์ของ FSS ต่อสัดส่วนสินทรัพย์รวมของกลุ่ม ยังอาจนำไปสู่การทบทวนการพิจารณาอันดับเครดิตของ FSX โดยฟิทช์อาจไม่ใช้แนวทางการพิจารณาอันดับเครดิตบนโครงสร้างเครดิตโดยรวมของกลุ่ม (group rating approach) ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทโฮลดิ้งและบริษัทลูกอาจมีอันดับเครดิตที่แตกต่างกัน

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน) การปรับตัวดีขึ้นของโครงสร้างเครดิตของกลุ่ม เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศโดยฟิทช์ อาจส่งผลให้อันดับเครดิตของ FSX ได้รับการปรับเพิ่มอันดับได้

โดยเหตุการณ์ดังกล่าว อาจเกิดขึ้นได้หากโครงสร้างธุรกิจโดยรวมของกลุ่มมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไร ประกอบกับการมีสัดส่วนของแหล่งรายได้ประจำ (recurring income) ที่เพิ่มขึ้นและสม่ำเสมอในระยะปานกลางถึงระยะยาว โดยเหตุการณ์ดังกล่าวอาจบ่งชี้ได้จากการมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ยที่สามารถทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 10% พร้อมกับความผันผวนที่ลดลงตลอดช่วงวัฎจักรของธุรกิจ และควบคู่ไปกับการรักษาความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในด้านเงินกองทุนและสภาพคล่องของบริษัทให้อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง

อีกทั้งอัตราส่วน double leverage ของบริษัทโฮลดิ้งส์จะต้องอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 120% และยังคงสามารถรักษาการบริหารสภาพคล่องให้มีความระมัดระวัง โดยมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องที่เพียงพอต่อระดับหนี้สินระยะสั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ