EPG มั่นใจยอดขายงวดปี 66/67 โต 10% ตามเป้าหลังงวด Q2 ทำนิวไฮรับอานิสงส์ Aeroklas ดีกว่าคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 16, 2023 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG) เปิดเผยว่า ในปีบัญชี 66/67 (เม.ย. ? ก.ย. 66) บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 10% และอัตรากำไรขั้นต้นที่ 31-33% ทั้งนี้แม้ว่าเศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ รวมทั้งความขัดแย่งทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่จากประมาณการณ์ GDP ในแต่ละประเทศของ IMF ยังโตต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทมั่นใจในปีบัญชีครึ่งปีหลังยังเติบโตได้ต่อเนื่อง

นอกจากนี้บริษัทได้ปรับเป้ารายได้ธุรกิจ Aeroklas จากเดิมอยู่ที่ 8-10% เป็นเติบโต 12-15% เนื่องจากทิศทางของยานยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex คาดจะเติบโต 8-10% ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ EPP ปรับเป้าลงจากเดิมคาดว่าเติบโต 12-15% จะอยู่ที่ประมาณ 5% เนื่องจากการอุปโภคและบริโภคในประเทศต่าง ๆ ชะลอตัว แต่บริษัทเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของธุรกิจซึ่งคาดว่าปีหน้าจะกลับมาฟื้นตัว

ทั้งนี้ส่วนแบ่งกำไรจากลงทุนในบริษัทร่วมในช่วงครึ่งปีแรกของปีบัญชีอยู่ที่ 252.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 153% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคาดการณ์ว่ากำไรจะเติบโตมากกว่า 170 ล้านในทุกไตรมาส จากความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจโดยเฉพาะในพื้นที่ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกิจการร่วมค้าในแอฟริกาใต้ยังคงต้องรอความคืบหน้าจากค่ายยานยนต์ซึ่งเป็นลูกค้าหลัก

ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ของปีบัญชี 66/67(ก.ค.-ก.ย.66) บริษัทมียอดขายนิวไฮที่ 3,299 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 32.7% ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ 170 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรสุทธิที่ 434 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือน ปีบัญชี 66/67 (เม.ย. - ก.ย.66) บริษัทมีรายได้จากการขาย 6,285 ล้านบาท โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้จากการขาย 6,094 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 32.2% และมีกำไรสุทธิ 744 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้เงินลงทุนทั้งปีบัญชี 66/67 อยู่ที่ 450 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมงบลงทุนที่ใช้ขยายกิจการโดยการเข้าซื้อร้านค้าในออสเตรเลียเพิ่ม 5 แห่งมูลค่า 117 ล้านบาท ทั้งนี้งบลงทุนปีบัญชี 66/67 ใช้ในช่วงครึ่งปีแรกไปแล้ว 140 ล้านบาท ในการซื้ออุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะใช้งบลงทุนใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก

สำหรับธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex ด้วยความพร้อมด้านการผลิตจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของ Aeroflex USA Inc. สหรัฐอเมริกา ประกอบกับสภาวะการแข่งขันขณะนี้ไม่รุนแรงนัก ส่งผลให้ฉนวน Aeroflex เป็นที่นิยมมากขึ้น และสามารถขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มลูกค้าขายส่ง และ กลุ่มลูกค้าโครงการ ได้แก่ EV / Semiconductor และ อาหาร เป็นต้น โดยเมื่อเดือนตุลาคม 66 ได้ออกสินค้าใหม่ Ultralow smoke ซึ่งนำไปใช้ในระบบ Air Ducting system เป็นฉนวนยางผลิตจากวัสดุคุณสมบัติพิเศษก่อให้เกิดควันน้อย ซึ่งเริ่มมีกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า สำหรับตลาดในประเทศได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศและสร้างโรงงานผลิตใหม่ จึงทำให้มีกลุ่มลูกค้าโครงการเพิ่มขึ้น ประกอบกับ Aeroflex มีสินค้านวัตกรรมอื่นๆ ที่ใช้ในระบบวิศวกรรมปรับอากาศ จึงตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้ครอบคลุม สำหรับในญี่ปุ่น ฉนวนยาง Aeroflex กลุ่มพรีเมี่ยมยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด

ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas ในไตรมาสที่ 3 ปีบัญชี 66/67 (ต.ค - ธ.ค.66) ยอดขายปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดตัวสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด อีกทั้งสินค้าหลักได้แก่ สินค้าประเภทหลังคาครอบกระบะ (Canopy) บันไดข้างรถกระบะ (Slide Step) มีคำสั่งซื้อจากค่ายยานยนต์อย่างต่อเนื่อง

สำหรับธุรกิจในออสเตรเลีย Aeroklas Asia Pacific Group Pty. Ltd. ออสเตรเลีย ได้ซื้อกิจการร้านค้าปลีก TJM ต่อจาก Franchisee รวม 5 แห่ง ในออสเตรเลีย มูลค่า 5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 117 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นร้านค้าสาขา TJM (Corporate Store) ทำให้ปัจจุบัน TJM มีร้านค้าสาขารวม 12 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามแผนธุรกิจที่ตั้งเป้าหมายภายใน 2 ปีบัญชีจะมีร้านค้าสาขา TJM รวมทั้งสิ้น 15 แห่ง โดยจะเร่งให้เกิด synergy ในกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ในออสเตรเลีย

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ EPP ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และการจับจ่ายใช้สอยช่วงปลายปีที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม EPP ได้ปรับกลยุทธ์การตลาดเน้นเจาะตลาดกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ โรงงานผลิตถ้วยกระดาษ EPP ที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างครบวงจรนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) และ BRC : British Retail Consortium มาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัย สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ใส่อาหาร จึงมั่นใจได้ว่าบรรจุภัณฑ์ถ้วยกระดาษ EPP เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ หรือป่าที่มีการจัดการดูแลอย่างรับผิดชอบ

ทั้งนี้แนวโน้มราคาน้ำมันเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะที่ดีขึ้น โดยผู้ประกอบการพลาสติกและโพลีเมอร์จะไม่ได้รับผลกระทบมาก ขณะเดียวกันบริษัทมีข้อได้เปรียบในการจัดหาซัพพลายได้จากหลาย ๆ แหล่ง และบริษัทมีเงินเพียงพอในการสต็อกสินค้าที่ราคาถูกเพื่อนำมาใช้ในเวลาที่จำเป็น รวมทั้งการทำสัญญาราคาล่วงหน้ากับคู่ค้า อย่างไรก็ตามหากเกิดสถานการณ์ที่ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ลูกค้าของบริษัทมีความยืดหยุ่นในการช่วยแบ่งเบาภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ