TOP คาด GRM ปี 67 แนวโน้มสูงตามดีมานด์น้ำมัน วางเป้าใช้งบ 540 ล้านดอลล์เน้นพลังงานสะอาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 8, 2023 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวทอแสง ไชยประวัติ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการเงิน บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจโรงกลั่นในปี 67 มีทั้งปัจจัยกดดันจากกำลังการผลิตใหม่ที่จะเข้ามา ซึ่งจะกดดัน Crack spread แต่จะได้ปัจจัยหนุนจากค่าการกลั่น GRM ที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่บริษัทฯ จะเดินเครื่องกำลังการผลิตเต็มที่ 100% แม้จะมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในบางหน่วย แต่ไม่ได้มีกำลังการผลิตที่ใหญ่ ทำให้ Utilization rate ยังคงอยู่ในระดับสูง

สำหรับการลงทุนในปี 67 บริษัทฯ วางไว้ที่ 540 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น จำนวน 430 ล้านเหรียญสหรัฐ รองรับการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 67 และอีกกว่า 100 ล้านเหรียญฯ จะใช้ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพของโรงกลั่น

ทั้งนี้หุ้นกู้ มูลค่า 7,000 ล้านบาท ที่จะครบกำหนดในอีก 1 ปี บริษัทฯ มีแผนที่จะรีไฟแนนซ์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะใช้วิธีการ ออกหุ้นกู้ หรือ กู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ ส่วนต้นทุนทางการเงินยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ การปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ย ไม่ได้ส่งผลกระทบกับค่าเฉลี่ยดอกเบี้ยรวมของไทยออยล์ ทำให้คาดว่าจะสามารถรีไฟแนนซ์ได้ที่เรทเท่ากับค่าเฉลี่ยที่มีอยู่ใน Portfolio ในปัจจุบัน

ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4/66 คาดว่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากค่าการกลั่นในตลาดสิงคโปร์ (GRM) ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 3/66 แม้ในภาพรวมยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ประกอบกับไม่มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันเหมือนในช่วงไตรมาสก่อนหน้า

นายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการพาณิชย์ TOP กล่าวว่า ประเมินตลาดน้ำมันดิบในปีหน้า ซัพพลายน่าจะปรับตัวขึ้นได้ไม่มากแล้ว โดยเฉพาะผู้เล่นนอกกลุ่มโอเปก คาดว่าจะปรับขึ้นอีกราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และประเทศอื่นๆ อีกประมาณ 2 แสนล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ด้วยล่าสุด การประชุมกลุ่มโอเปกพลัส นำโดยซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย ร่วมกันลดกำลังการผลิต ไปจนถึงปีหน้า ทำให้มองว่าภาพซัพพลายในปีหน้าจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ตลาดน่าจะตึงตัวขึ้นในไตรมาส 1/67 และน่าจะเห็นการควบคุมตลาดต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 67 หากสถานการณ์ตลาดไม่ได้ฟื้นตัวมากนัก

ปัจจัยที่ต้องจับตา ยังคงเป็นสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ว่าจะรุกรามไปยังบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ ก็จะส่งผลกระทบต่อมาตรการการคว่ำบาตรอิหร่าน และเวเนซุเอลา จากฝั่งสหรัฐ จะผ่อนปลนได้แค่ไหน ซึ่ง 2 ประเทศนี้จะสามารถเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบได้ หากลดการคว่ำบาตรลงไป

ด้านดีมานด์ในปีหน้า มองว่ายังเติบโตเฉลี่ยราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างไรก็ตามในภาพรวมระหว่างซัพพลายและดีมานด์ ก็จะเห็นการขาดดุลเล็กน้อยในไตรมาส 1/67 และอาจเห็นน้ำมันสำรองคงคลังปรับตัวลดลง ขณะที่มองไปในครึ่งปีหลังของปีหน้า ดีมานด์จะเติบโตตามฤดูกาล ทำให้ตลาดยังในลักษณะสมดุลอยู่ หนุนให้ราคาน้ำมันดิบน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 75-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ส่วนธุรกิจโรงกลั่น ในปี 67 มองความต้องการใช้น้ำมันยังเป็นปัจจัยหลักที่เข้ามาหนุนภาพของตลาดโรงกลั่น โดยเฉพาะดีมานด์น้ำมันอากาศยาน คาดเติบโตราว 5 แสนบาร์เรลต่อวัน และกลุ่มของน้ำมันเบนซินและดีเซล ก็ยังเติบโตอยู่เช่นกัน ขณะที่ระดับสต็อกทั่วโลก ในกลุ่มของน้ำมันชนิดกลาง (Middle Distillate Stock) ยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ก็จะเป็นปัจจัยหนุนธุรกิจโรงกลั่น

นอกจากนี้ในปีหน้า ในด้านของซัพพลายโรงกลั่นใหม่ จะมีการเปิดดำเนินการกำลังการผลิตรวมราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่หลังจากปี 68 เป็นต้นไป การลงทุนในโรงกลั่นใหม่จะทยอยลดลง จะทำให้อัตราการใช้กำลังการกลั่นอยู่ในระดับสูง หรือ 85% ส่งผลดีต่อ GRM อย่างไรก็ตามในปีหน้ายังต้องจับตามองโรงกลั่นขนาดใหญ่ อย่าง ประเทศแอลจีเรีย แม็กซิโก ว่าจะสามารถเปิดดำเนินการๆได้ตามเป้าหรือไม่ หากไม่ได้ตามเป้าจะส่งผลให้ตลาดยังคงตึงตัวอยู่

ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ คาดน้ำมันเบนซิน ยังโตได้ 4% ตามยอดขายรถ และน้ำมันอากาศยานที่มีการเติบโตในระดับสูง 24% ส่วนน้ำมันดีเซล ทรงตัวจากปีนี้ เนื่องจากปีนี้ยังมีดีมานด์สำหรับทำไฟฟ้าอยู่ แต่ปัจจุบันราคาก๊าซฯ (LNG) ปรับลงมาอยู่ในระดับปกติ ทำให้การใช้น้ำมันดีเซลสำหรับทำไฟฟ้าลดลง ขณะที่ปีหน้าจะเป็นการใช้สำหรับภาคขนส่งเป็นหลัก ซึ่งยังมีการเติบโตอยู่ ด้านราคาน้ำมันเตา ปรับตัวลงเล็กน้อย ราว 2% ตามการปรับลดการใช้ในการผลิตไฟฟ้า

นายณัฐพล กล่าว สำหรับธุรกิจปิโตรเคมี โดยอะโรเมติกส์ PX และเบนซิน ในปีหน้าจะเริ่มฟื้นตัว จากวัฎจักรขาลง จากซัพพลายที่เข้ามาใหม่เริ่มมีทิศทางลดลง สวนทางดีมานด์ที่ปรับตัวขึ้นในปีหน้าและปีถัดไป ส่งผลให้ Product spread ของกลุ่มนี้มีทิศทางดีขึ้น

ส่วนโอเลฟินส์ ยังท้าทายอยู่ จากซัพพลายที่เข้ามาใหม่ ทั้ง PE , PP คาดว่าตลาดน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ในปี 68 เป็นต้นไป ด้านน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน คาดมีแรงกดดันเข้ามาบ้างของโรงกลั่นใหม่ที่จะเริ่มผลิต ส่งผลกดดันต่อ Spread กลุ่มน้ำมัน Base oil ส่วนยางมะตอย ดีมานด์ยังเติบโตได้ดีอยู่


แท็ก ไทยออยล์   (TOP)  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ