HILITE: มาตรการแก้หนี้ยังสับสนสร้างแรงกระแทกจิตวิทยาไฟแนนซ์-บัตรเครดิต แต่มองแบงก์รับผลบวกมากกว่าลบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 13, 2023 11:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์มองมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบของรัฐบาลที่ประกาศออกมาเมื่อวานนี้ (12 ธ.ค. 66) ส่วนใหญ่ผลกระทบจะไปอยู่ในกลุ่มไฟแนนซ์ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการค่อนข้างมาก โดยเฉพาะมาตรการลดดอกเบี้ยกู้ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ที่จะลดลงเหลือ 3-5% ต่อปี ซึ่งโดยบล.กสิกรไทย มองว่ากระทบผลกระทบหลักๆ จะกับกลุ่มบัตรเครดิตในตลาดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้เล่นหลักในตลาด ได้แก่ KTC และ AEONTS รวมถึงกลุ่มธนาคารที่มีฐานลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก เช่น KBANK และ SCB แต่ยังมีความไม่ชัดเจนในการที่ภาครัฐจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลจะมีเงื่อนไขอย่างไร ซึ่งตลาดยังคงมีความสับสนอยู่ในประเด็นดังกล่าว

ส่วนการควบคุมดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ไม่เกิน 10% เป็นระดับเดียวกับกับที่ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (ส.ค.บ.) กำหนดในช่วงปลายปี 65 ดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ไม่เกิน 10% รถยนต์ใช้แล้วไม่เกิน 15% และรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 23% ถือว่าไม่ได้มีการควบคุมเพิ่มเติม

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่ามาตรการที่รัฐบาลประกาศออกมาส่งผลเชิงจิตวิทยาต่อหุ้นในกลุ่มที่ทำธุรกิจลีสซิ่งในตลาดระยะสั้น แต่ยังไม่เห็นถึงผลกระทบตรง ๆ ต่อการดำเนินงานอย่างชัดเจน จึงคาดว่าราคาหุ้นในกลุ่มจะเริ่มฟื้นตัว หลังคลายความกังวลจากการถูกรัฐบาลเข้ามาควบคุมมากขึ้น โดยยังแนะนำหุ้นในกลุ่มนี้ที่ราคาได้รับผลกระทบเชิงจิตวิทยา และมีแนวโน้มของการถูกควบคุมจากภาครัฐน้อย ได้แก่ TIDLOR และ SAWAD

สำหรับมาตรการแก้หนี้เมื่อวานนี้ที่ออกมาส่วนใหญ่จะเจาะไปที่การช่วยเหลือกลุ่ม SME เป็นหลัก โดยเฉพาะในส่วนของการพักหนี้ ลดดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างและขยายเวลาผ่อนจ่าย และรวมกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผกระทบจากโควิด-19 ที่จะได้รับประโยชน์ในการยกเลิกสถานะ NPL ซึ่ง บล.พาย มองว่าจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีฐานลูกค้า SME เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ KBANK ที่มีฐานลูกค้า SME ค่อนข้างมาก รองลงมาเป็น SCB, KKP และ LHFG ทำให้ NPL ของลูกหนี้ในกลุ่ม SME จะลดลงไปมาก เป็นบวกต่อระดับ NPL ของแบงก์ และทำให้การตั้งสำรองลดลง รวมถึงการแก้ไขหนี้ของข้าราชการและสหกรณ์ ซึ่งแบงก์ที่จะได้รับประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้ คือ KTB

โดยที่มองว่ากลุ่มแบงก์เป็นกลุ่มที่มีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในปี 67 ด้วยระดับ Valuation ของกลุ่มที่น่าสนใจ ที่มีการซื้อขาย P/B เพียง 0.63 เท่า และยังได้รับประโยชน์ต่อเนื่องจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ที่ยังสูงต่อเนื่อง มาช่วยหนุนกำไรของกลุ่มแบงก์ในปี 67 ซึ่งคาดว่ากลุ่มแบงก์จะยังมีกำไรเติบโตได้เฉลี่ย 10% ในปี 67 โดยแบงก์ที่มีกำไรขยายตัวเด่นสุด ในปี 67 ได้แก่ KBANK BBL KTB และ SCB

ด้าน บล.กรุงศรี มองว่า มาตรการเมื่อวานนี้ไม่มีผลกระทบหุ้นกลุ่มแบงก์ แต่คาดผลกระทบเล็กน้อยต่อกลุ่ม Finance เนื่องจากโครงการนี้มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) จึงมองผลกระทบจำกัดต่อ KTB หรือแทบจะไม่มีผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มแบงก์ นอกจากนี้ลูกค้าในกลุ่มแบงก์ยังเป็นคนละกลุ่มกับที่ทางภาครัฐเข้าให้การช่วยเหลือ สำหรับด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ที่จะมีการ กำหนดเพดานดอกเบี้ย เรามองว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารไม่เกินระดับเพดานที่กำหนดอยู่แล้ว จึงไม่มีผลกระทบ แต่อาจจะมีผลกระทบทางลบเล็กน้อยต่อกลุ่ม Finance

ดังนั้น มอง Neutral ต่อกลุ่มธนาคาร การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงไปยังหุ้นกู้ระยะยาว จึงทำให้หุ้นกลุ่มแบงก์ underperformed รวมถึงตลาดหุ้นไทยโดยรวมด้วย เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ อัตราส่วนหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ หนี้เอกชนในระดับสูงต่อ GDP และ ความเสี่ยงทางด้านนโยบายของภาครัฐ

นอกจากนี้เราคาดการณ์การเติบโตของสินเชื่อจะเติบโตเพียงเล็กน้อย ขณะที่ NIM อาจจะทรงตัวหรือลดลงตามกลยุทธ์ของ แต่ละแบงก์ อย่างไรก็ดีกลุ่มธนาคารไทยยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งในด้านของสภาพคล่อง การตั้งสำรองสูง เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูง คุณภาพสินทรัพย์ที่จัดการได้ และมีนโยบายที่เข้มงวด valuation ที่ไม่แพง และอัตราการจ่ายเงินปันผลดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ