Decrypto: Blockchain กฎหมาย กับการจัดการพลังงานในประเทศไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 19, 2023 10:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าไฟแพง! อาจถูกแก้ไขในยุคดิจิทัลด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริหารจัดการพลังงาน โดยเฉพาะการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดการพลังงานอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนรวมถึงเทคโนโลยีใหม่อื่น ๆ มาปรับใช้กับกิจการที่เดิมทีรัฐเป็นผู้ดำเนินการหลัก เช่น กิจการเกี่ยวกับพลังงาน นั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับปัญหาทางกฎหมายทั้งการกระทำที่ผิดกฎหมายและการกระทำที่ไม่มีกฎหมายรองรับ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยี "บล็อกเชน" เป็นเทคโนโลยีหลักในยุคนี้ที่มีศักยภาพในการปฏิรูประบบพลังงานในประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการกระจายสิทธิการควบคุมและเพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับพลังงาน เช่น ในการซื้อขายพลังงานหมุนเวียนระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคโดยตรง หรือ Peer-to-Peer เทคโนโลยีบล็อกเชนจะสามารถทำให้การซื้อขายได้ง่ายและโปร่งใส ลดการพึ่งพารัฐบาลหรือตัวอย่างในการจัดหาพลังงานเพียงฝ่ายเดียว กล่าวคือในอนาคตผู้ผลิตพลังงานจะสามารถขายพลังงานโดยตรงให้กับผู้บริโภคหรือผู้ใช้พลังงานโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือการไฟฟ้านครหลวง

แต่อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการบริหารจัดการพลังงานในระดับประเทศนั้นต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกฎหมายที่ในปัจจุบันนี้ยังขาดนโยบายและกรอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับการซื้อขายพลังงานด้วยบล็อกเชนระหว่างเอกชนด้วยกันเอง ซึ่งรวมถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดเก็บและการใช้ข้อมูล การรักษาความปลอดภัย และการป้องกันการทุจริต

ขั้นตอนปกติที่ทำกันในปัจจุบันก็คือ หากผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชนมีกระแสไฟฟ้าเหลือใช้ ก็จะขายให้แก่หน่วยงานของรัฐเพื่อนำไปขายให้แก่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ซึ่งความเหมาะสมด้านราคาจะถูกอำนาจควบคุม จึงขาดแรงจูงใจที่จะผลิตไฟฟ้าเพิ่ม แต่หากว่ามีการปรับใช้เทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้บริหารจัดการพลังงานที่ผลิตได้จากที่ต่าง ๆ พลังงานก็อาจถูกขายผ่านการประมูลโดยที่ผู้สนใจ ทำให้ผู้ผลิตพลังงานขายได้ที่ราคาตลาด และผู้บริโภคหรือผู้ใช้พลังงานก็จะได้ใช้พลังงานในราคาที่ยุติธรรม ส่งผลให้ระบบพลังงานไฟฟ้าในประเทศมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ "บล็อกเชน" ยังช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับการสร้างมาตรฐานสำหรับการซื้อขายพลังงานและการให้สิทธิในการเข้าถึงและการควบคุมข้อมูลที่โดยปรกติแล้วหน่วยงานรัฐจะเป็นผู้ได้สิทธิอย่างเด็ดขาด สิ่งเหล่านี้ก็จะถูกเปิดเผยอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกฝ่ายทุกหน่วยงานสามารถใช้ข้อมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พลังงาน เพื่อปกป้องผู้บริโภคและรักษาความมั่นคงของระบบพลังงาน

การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการจัดการพลังงานในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นระบบตัวอย่างการซื้อขายไฟฟ้า เป็นโอกาสที่จะช่วยปฏิรูประบบพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นกุญแจสำคัญในการนำทางสู่อนาคตของการจัดการพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ