TNL อัดงบซื้อหนี้เพิ่มดันพอร์ต AMC พุ่งโดดเด่นนำกลุ่ม New Engines อัพผลงานโตต่อเนื่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 31, 2024 10:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ธนูลักษณ์ (TNL) ชูกลุ่มธุรกิจการเงินโดดเด่นผลักดันการเติบโตปี 67 ต่อเนื่องจากปี 66 สะท้อนผลสำเร็จการสร้าง New Engines เข้ามาเสริมทัพธุรกิจ ช่วยพลิกฟื้นผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกปี 66 กำไรสุทธิพุ่งพรวดกว่า 500% กางแผนหลักปีนี้รุกหนักธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) ซึ่งจะเป็นเรือธงหลัก อัดงบซื้อหนี้เพิ่มหวังดันพอร์ตโตเท่าตัว

นายกิตติชัย ตรีรัชตพงษ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารสายงานกลยุทธ์องค์กร บมจ.ธนูลักษณ์ (TNL) กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 67 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการเติบโตของธุรกิจใหม่ทั้ง 3 ธุรกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินซึ่งจะมีสัดส่วนกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่า 90% ของภาพรวมกำไรของบริษัท

ในปีนี้คาดว่าธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) ภายใต้ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ออกซิเจน จำกัด (OAM) จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตหลักให้กับบริษัท หลังจากงวด 9 เดือนของปี 66 บริษัทสามารถประมูลหนี้เข้าพอร์ตได้แล้ว 1.6 พันล้านบาท และคาดว่าไตรมาส 4/66 จะสามารถประมูลหนี้เข้าพอร์ตได้เพิ่มอีก โดยบริษัทตั้งเป้าใช้ลงทุนในการซื้อหนี้ปี 67 เพิ่มขึ้น 20% โดยคาดว่าพอร์ตหนี้บริหารในปีนี้น่าจะเติบโตเป็นเท่าตัว

นายยศกร ศรีสุขสวัสดิ์ หัวหน้าคณะผู้บริหาร สายงานลงทุน TNL กล่าวว่า ในปีนี้มีแนวโน้มว่าสถาบันการเงินจะนำหนี้เสียออกมาประมูลขายมากขึ้น หลังจากมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หมดอายุ จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ที่ชะลอการปล่อยหนี้เสียออกมาขายเริ่มทยอยเอาออกมาขายมากขึ้น ซึ่งในปี 66 มีหนี้เสียที่ออกมาขายประมาณ 2 แสนล้านบาท

"ราคาซื้อ NPL จาก 3 ปีที่มันอั้นช่วงโควิด ราคาปรับตัวขึ้นสูง แต่ตอนนี้ราคาค่อยๆ ปรับตัวลงมา หากปีนี้หนี้เสียที่ออกมาประมูลอยู่ในระดับเดียวกัน เราคิดว่าราคาอาจจะลงมาในระดับที่เหมาะสม เราเองก็หวังว่ามูลหนี้ที่เราได้มาบริหารมันจะมากกว่าเดิม" นายยศกร กล่าว

และในปี 67 คาดว่าหนี้เสียที่ออกมาประมูลจะยังคงระดับใกล้เคียงกับปีก่อน แต่บริษัทจะเลือกซื้อหนี้เสียที่มีหลักประกันเท่านั้น โดยเฉพาะ Corporate NPL แต่ก็จะเข้าประมูลหนี้เสียของรายย่อยด้วย โดยเฉพาะ Housing Loan ซึ่งการประมูลหนี้รายย่อย จะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดเพื่อมาใช้จ่ายค่าดำเนินงาน หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในบริษัทได้ ทั้งนี้ในไตรมาส 1/67 เริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เริ่มเปิดประมูลหนี้เสียกันแล้วมูลค่ารวมหลักหมื่นล้านบาท

ด้านธุรกิจให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่มีหลักประกัน (Asset Financing) ในปี 67 แม้ว่าแนวโน้มลูกค้าจะเข้ามาขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น แต่บริษัทจะยังเน้นความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากกังวลภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่แน่นอน ขณะที่ปี 66 การเติบโตของพอร์ตสินเชื่อสูงทะลุเป้าหมาย โดยงวด 9 เดือนปี 66 บริษัทมีพอร์ตสินเชื่อรวม 5.19 พันล้านบาท และในปี 67 ตั้งเป้าการเติบโตอย่างน้อย 20-30%

TNL ดำเนินธุรกิจสินเชื่อผ่าน บริษัท ออกซิเจน แอสเซ็ท จำกัด (Oxygen) ในปี 65 มีพอร์ตสินเชื่ออยู่ทีประมาณ 3,500 ล้านบาท และ ณ วันที่ 30 ก.ย.66 พอร์ตสินเชื่อรวมเพิ่มเป็นกว่า 5,193 ล้านบาท

นายยศกร กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อของบริษัทจะมุ่งเน้นผู้ประกอบการที่มีที่ดินเป็นหลักประกันเท่านั้น และต้องเป็นที่ดินที่สามารถนำมาพัฒนาต่อได้ ซึ่งบริษัทอาจไม่ได้เป็นผู้พัฒนาเอง แต่อาจจะขายให้ Developer ใน ecosystem ของบริษัทนำไปพัฒนา ทั้งนี้ บริษัทปล่อยสินเชื่อเฉลี่ย 200 ล้านบาทต่อราย

นายนันทวัฒน์ สุรวัติเสถียร หัวหน้าคณะผู้บริหาร สายงานการเงิน TNL กล่าวถึงธุรกิจการลงทุนในบริษัทร่วมทุนเพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย บริษัท ทีเอ็นแอล อัลไลแอนซ์ จำกัด (TNLA) ซึ่งร่วมทุนกับบมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) ผ่านบริษัทร่วมทุน (JV) ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา 8 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปี 67 คาดว่าจะโอนโครงการได้ประมาณ 2-3 โครงการ มูลค่าประมาณ 7-8 พันล้านบาท

ส่วนธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่เป็นธุรกิจเดิมก็ยังเดินหน้าตามปกติ คาดว่าผลการดำเนินงานจะทรงตัวจากปีก่อน โดยสัดส่วนรายได้ของธุรกิจสิ่งทออยู่ที่ 50-60% แต่กำไรสุทธิอาจจะยังค่อนข้างต่ำ ซึ่งงวด 9 เดือนแรกของปี 66 กำไรกว่า 90% มาจาก 3 ธุรกิจใหม่ ในอนาคตโครงสร้างรายได้ก็จะเปลี่ยนไป ธุรกิจใหม่จะค่อยๆเติบโตขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ