INTERVIEW: UBE แบบใหม่แบบสับ !! จับเทรนด์รักสุขภาพสร้าง New S-Curve

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 2, 2024 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.อุบล ไบโอ เอทานอล (UBE) ผู้ผลิตและจำหน่ายธุรกิจเอทานอลที่ใช้ในน้ำมันแก๊สโซฮอลล์รายใหญ่ และผู้นำผลิตแป้งมันสำปะหลังรายใหญ่ของโลก อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญ เป็นก้าวใหญ่ที่จะผลักดันธุรกิจแป้งมันสำปะหลังแบบเดิมเดิม พัฒนาไปสู่ผู้ผลิต Functional Ingredients ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ รองรับเมกะเทรนด์ของโลก

และ นี่จะเป็น New S-Cuvre ของ UBE!!

"อินโฟเควสท์" สัมภาษณ์พิเศษ นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อุบล ไบโอ เอทานอล (UBE) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมปี 67 เติบโต 15% จากการดำเนินงานใน 3 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1) แป้งและฟลาวมันสำปะหลัง ซึ่งจะปรับเปลี่ยนตัวเองจาก Food ingredient เป็น Functional Ingredients หรือ พัฒนาด้วยหลักการเพิ่มคุณค่าทางอาหารมากขึ้น เช่น ให้ความหวานแต่มีแคลอรี่ต่ำ เป็นต้น

2) ธุรกิจเอทานอล จะมุ่งเน้นในเรื่องของ Operational Excellence หรือการเดินเครื่องผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และนำ By Product อย่างกากมันสำปะหลัง ต่อยอดไปทำอย่างอื่น เช่น สารปรับปรุงดิน หรือ ปุ๋ย ตลอดจนนำกากเอทานอลไปทำอาหารสัตว์ ส่วน 3) ธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ก็อยู่ระหว่างผลักดันผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ใช่ออร์แกนิกเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก เพื่อตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพ

สำหรับสัดส่วนรายได้ของ UBE ในปี 67 ยังคงมาจากธุรกิจเอทานอล 65%, ธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง และธุรกิจอื่นๆ 35%

ปัจจุบัน UBE มีกำลังการผลิตโรงงานผลิตเอทานอล 4 แสนลิตร/วัน จะมุ่งเน้นการเดินเครื่องให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้เอนไซม์ใหม่ๆ หมักเอทานอลให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น เพื่อเพิ่ม Yield ส่วนแป้งมันสำปะหลัง ขณะนี้มี 2 ไลน์ผลิต รวมกำลังการผลิต 700 ตัน/วัน และสายการผลิตฟลาวมันสำปะหลัง 100 ตัน/วัน

บริษัทมีแผนปรับปรุงตัวไลน์ฟลาวมันสำปะหลังให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 300 ตัน/วัน ด้วยงบลงทุน 300 ล้านบาท และ การลงทุนต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ Functional Ingredients อีก 300 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร 1-2 รายในการเข้าซื้อกิจการ (M&A) อีกทั้งยังมองโอกาสขยายพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมด้วย โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงของการศึกษา

นางสาสุรียส กล่าวว่า ราคาหัวมันสำปะหลังในปี 67 ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น จากปีก่อนเผชิญกับภาวะอากาศร้อน กระทบกับผลผลิตต่อไร่ โดยมองว่าปีนี้ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ่จะมีไม่มากเหมือนปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บริษัทก็มีการบริหารจัดการความเสี่ยงไว้แล้ว ทั้งการกระจายฐานคู่ค้าไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ , การทำ premium contract farming เพื่อจูงใจเกษตรกรนำผลผลิตมาขายให้ได้ราคาที่ดี เพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง

ควบคู่กับโครงการอุบลโมเดล ที่ได้ทำร่วมกับภาครัฐ เกษตรกร และโรงงาน เพื่อส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกร และเข้ามาทำ contract farming รวมถึงการทำธนาคารท่อนพันธุ์ต้านทานโรค จะทำอย่างไรให้เกษตรกรที่อยู่ในเครือข่ายได้ท่อนพันธุ์ที่ดี ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดความเสี่ยงการขาดแคลนวัตถุดิบได้

*ปรับพอร์ตธุรกิจสร้าง New S-curve มุ่งสู่ Functional Ingredient

นางสาวสุรียส กล่าวว่า เป้าหมาย 3-5 ปีจากนี้ บริษัทจะผลักดันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหาร และแป้งมันสำปะหลัง ขยับขึ้นมาเป็น 70% และลดธุรกิจเอทานอลลงเหลือ 30% โดยจะมุ่งลงทุนเกี่ยวกับสินค้าอาหารมากขึ้น จากปัจจุบันที่อยู่ในสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) ก็จะขยับไปเป็น Functional Ingredient และในระยะยาวก็ตั้งใจที่จะทำผลิตภัณฑ์ให้ไปถึงผู้บริโภคโดยตรง หรือสามารถพร้อมทานได้

ส่วนเอทานอล จะมุ่งเน้นในเรื่องของ personal excellence และผลักดันเอทานอลเสรี เนื่องจากส่วนหนึ่งของเอทานอลนำไปเป็นวัตถุดิบพื้นฐานผลิตยา เครื่องสำอาง และสมุนไพรต่างๆ แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังผลิตได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากติดข้อจำกัด จึงต้องมีการนำเข้า ซึ่งการผลักดันของบริษัทจะช่วยให้ประเทศไทยสามารพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อีกมาก เพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่ไทยกำลังจะมุ่งหน้าไป

"เราจะเปลี่ยนตัวเองไปเป็นในส่วนของ Functional Ingredient ซึ่งจะตอบโจทย์คนที่รักสุขภาพมากขึ้น ตามเทรนด์รักสุขภาพของคนทั่วโลก มองว่าจะเป็น New S-curve ของบริษัทในอนาคต ส่วนเอทานอล ภายใน 3-5 ปี จะโฟกัสในเรื่องของ personal excellence และผลักดันเอทานอลเสรี" นางสาวสุรียส กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเพื่อไปสู่ความยั่งยืน (ESG) โดยในด้านสิ่งแวดล้อมได้นำ By Product เช่น น้ำเสีย กากมันสำปะหลัง มาวนใช้ภายในโรงงานทั้งหมดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนด้านความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัทได้ทำโครงการอุบลโมเดล ให้ความรู้กับเกษตรกร การปลูกมันอินทรีย์ รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับชุมชน ขณะที่ด้านธรรมาภิบาล บริษัทผ่านการรับรองการต่ออายุสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ประจำปี 66

และในปีที่แล้ว UBE ได้รับการจัดอันดับบริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีในระดับดีเลิศ (Excellent CG Scoring) หรือ CG 5 ดาว จากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พร้อมได้รับการคัดเลือกเป็นหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings (เดิม THSI) ระดับ A

https://youtu.be/rouna8gosGg


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ