BAM ควักเงินหมื่นล้านรอเก็บหนี้เสียเข้าพอร์ตเพิ่ม วางกลยุทธ์เข้มปี 67 เร่งยอดเรียกเก็บเข้าเป้า 2 หมื่นล้าน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 5, 2024 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

BAM ควักเงินหมื่นล้านรอเก็บหนี้เสียเข้าพอร์ตเพิ่ม วางกลยุทธ์เข้มปี 67 เร่งยอดเรียกเก็บเข้าเป้า 2 หมื่นล้าน

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กล่าวว่า แผนกลยุทธ์ในการดำเนินงานปี 67 BAM ได้กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างผลเรียกเก็บให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 2 หมื่นล้านบาท และมีเป้าหมายระยะกลางในปี 69 ที่ 2.33 หมื่นล้านบาท ขณะที่การขยายฐานสินทรัพย์มีเป้าหมายลงทุนซื้อคิดเป็นเงินต้นคงค้าง 7 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาขนาดสินทรัพย์และโอกาสทางธุรกิจของ BAM

ขณะที่งบลงทุนการซี้อหนี้ NPA และ NPLs ในปี 67 วางไว้ 1 หมื่นล้านบาท โดยมองว่าปีนี้มีโอกาสเข้าซื้อหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะสถาบันการเงินต่างๆ ยังมีความต้องการบริหารจัดการหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งประเมินว่าสถาบันการเงินยังมีหนี้ที่ยังไม่ถูกจัดชั้นราว 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นสัญญาณว่าจะมีการทยอยขายหนี้ออกมาต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือน ม.ค.BAM ได้เข้าไปยื่นประมูลหนี้กว่า 4 หมื่นล้านบาท

BAM ควักเงินหมื่นล้านรอเก็บหนี้เสียเข้าพอร์ตเพิ่ม วางกลยุทธ์เข้มปี 67 เร่งยอดเรียกเก็บเข้าเป้า 2 หมื่นล้าน

ปัจจุบัน BAM มี NPLs อยู่ที่ 4.73 แสนล้านบาท และมี NPAs อยู่ที่ 6.98 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน BAM สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติจากการแก้ไขปัญหาหนี้เป็นจำนวน 154,187 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 4.79 แสนล้านบาท และสามารถจำหน่ายทรัพย์ไปแล้ว จำนวน 51,420 รายการ คิดเป็นราคาประเมิน 1.21 แสนล้านบาท

นายบัณฑิต กล่าวว่า ความท้าทายของการดำเนินงานในปี 67 คือ การจัดเก็บและการตามลูกหนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ค่อยดี การส่งออกที่มีความผันผวน การบริโภคในประเทศที่เกิดการชะลอตัวขึ้น ทำให้รายได้ของคนมีผลกระมบ ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งทำให้บริษัทอาจจะเก็บหนี้ยากขึ้น ซึ่งบริษัทจะต้องช่วยลูกหนี้ในการให้คำปรึกษาเรื่องศักยภาพของลูกหนี้ลดลงหรือเพิ่มขึ้น ประกอบกับการเจรจาปรับโครงสร้าง และการประนอมหนี้ โดยในปีนี้จะประนอมหนี้แบบยืดหยุ่น เพราะสถานการณ์ไม่เอื้อ แม้ดอกเบี้ยจะเป็นเทรนด์ลดลง แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอน

กลยุทธ์เชิงรุกในปีนี้เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามที่วางไว้ ประกอบไปด้วย การขยายธุรกิจ (Business Expansion) โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ Clean Loan ด้วยการจัดกลุ่มลูกหนี้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บริหารเอง กับกลุ่มที่ให้ทนายนอก/Collector บริหารจัดการ เพื่อลดเวลาติดตามหนี้ รวมทั้งการดำเนินโครงการกิจการค้าร่วม (Consortium) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 2-3 ราย โดยในเบื้องต้น BAM จะคัดเลือกทรัพย์ประเภทโครงการเพื่อกำหนดมาตรฐานเงื่อนไข รวมทั้งการกำหนดหน่วยงานขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ

ขณะที่การดำเนินธุรกิจใหม่ (New Business) วางแนวทางการร่วมทุนกับสถาบันการเงิน ซึ่ง BAM จะได้ค่าบริหารจัดการตามสัดส่วนที่มีข้อสรุปร่วมกัน การสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม ด้วยการพัฒนาระบบด้านการสำรวจและประเมินราคาทรัพย์ เพื่อสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมในการดำเนินงานดังกล่าว (แผนระยะกลาง) การพัฒนา Pricing Model ด้วยการลงทุนแบบ Selective เพื่อรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ในราคาที่เหมาะสมและยังคงบทบาทหลักในการเป็นแก้มลิงเพื่อรองรับ NPL/NPA เพื่อช่วยพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้วยแผนการลดขั้นตอนและระยะเวลาในกระบวนการทางคดี กระบวนการประเมินราคาทรัพย์ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่น ตลอดจนการปรับปรุงระเบียบ/คำสั่งต่างๆ เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน

นายบัณฑิต กล่าวว่า ความคืบหน้าของการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับสถาบันการเงิน ยังคงอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรสถาบันการเงิน ซึ่งรูปแบบการร่วมทุนจะถือหุ้น 50:50 เพื่อให้การบริหารไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และสามารถร่วมกันลงทุนได้ โดยไม่กระทบกับงบการเงินของ BAM และพันธมิตร รวมถึงการพิจารณานำทรัพย์เขามาเสนอขายบริษัทร่วมทุนอย่างรอบคอบ ซึ่งเกิดประโยชน์จากบริษัทอย่างไร

ประกอบกับยังคงรอหลักเกณฑ์การดำเนินงานในกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว หากมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวคาดว่าจะมีความชัดเจนในการร่วมทุน

นอกจากนี้ BAM ยังได้เตรียมความพร้อมในการสร้างบุคลากรด้วยการพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับอนาคต Capability Development ด้วยการจัดทำแผนพัฒนา Successor & Talent และพัฒนา Core Capability

นายธนกร หวังพิพัฒน์วงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายสารสนเทศและดิจิทัล BAM กล่าวว่า ปัจจุบัน BAM ได้เร่งสร้างระบบการให้บริการลูกค้าบน Online Platform โดยมีระบบการชำระเงิน และ E-TDR (การปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์) ด้วยการจัดทำ BAM Mobile Application ระบบจองทรัพย์/ชำระเงิน และระบบตรวจสอบภาระหนี้/ชำระหนี้ รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูล DATA Management Dashboard ด้วยการสร้างศูนย์ข้อมูลกลาง (DATA Center) เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลสำคัญขององค์กรและรายงานต่างๆ จากแหล่งเดียวกัน ซึ่งเป็นการสร้างคลังข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อกลายเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Organization) และเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจสำหรับการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังได้นำระบบ Lead Management ที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้าและกลุ่มลูกหนี้ของ BAM ที่ต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อนเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ให้ติดต่อหรือลงทะเบียนเข้ามา เพื่อสร้างโอกาสในการปิดการขาย หรือโอกาสในการปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพิ่มขึ้น พร้อมกับเตรียมนำ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ลูกหนี้ ทำให้สามารถจำแนกลูกหนี้กลุ่มต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ