ก.ล.ต. ร่วมเป็นสมาชิกฟอรัมการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ (TNFD forum)

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 12, 2024 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมเป็นสมาชิกฟอรัมของมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ (TNFD forum member) เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำปัจจัยด้านความเสี่ยงต่อธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ผนวกกับเป้าหมาย กลยุทธ์ และการบริหารความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ พร้อมเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากล ช่วยยกระดับตลาดทุนไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ก.ล.ต. เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกฟอรัม TNFD อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 โดยเป็นหน่วยงานกำกับดูแลอันดับที่ 2 ของโลก และอันดับแรกของเอเชียที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกฟอรัม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงบทบาทความเป็นผู้นำและส่งสัญญาณให้บริษัทจดทะเบียน และผู้มีส่วนได้เสียให้ความสำคัญถึงความเสี่ยงต่อธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดจากการดำเนินการของตน ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) โดยเฉพาะในเป้าหมายที่ 15 คือ ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

สำหรับ TNFD ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูง 40 รายจากสถาบันการเงิน บริษัท และผู้ให้บริการในตลาด (Market Service Providers) เช่น บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ โดยมีมูลค่าตลาดมากกว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการกว่า 20.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในกว่า 180 ประเทศ

แนวทางของ TNFD ประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่

(1) เปิดเผยการกำกับดูแลขององค์กรเกี่ยวกับการพึ่งพาธรรมชาติ ผลกระทบ ความเสี่ยง และโอกาส (governance)

(2) เปิดเผยผลกระทบของการพึ่งพาธรรมชาติ ผลกระทบ ความเสี่ยง และโอกาสต่อรูปแบบธุรกิจ กลยุทธ์ และการวางแผนทางการเงินขององค์กร ในกรณีที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ (strategy)

(3) อธิบายกระบวนการที่องค์กรใช้เพื่อระบุ ประเมิน จัดลำดับความสำคัญ และติดตามการพึ่งพา ผลกระทบ ความเสี่ยง และโอกาสที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ (risk and impact management)

และ (4) เปิดเผยตัวชี้วัดและเป้าหมายที่ใช้ในการประเมินและจัดการการพึ่งพาธรรมชาติ ผลกระทบ ความเสี่ยง และโอกาสที่เกี่ยวข้องกับลักษณะวัสดุ (metrics and targets)

โดย TNFD มีการตีพิมพ์เอกสารคำแนะนำออกมาเมื่อเดือนกันยายน 2566 เพื่อช่วยให้การประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและการรายงานที่เกี่ยวข้องขององค์กรสามารถปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ กรอบการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวใช้แนวทาง 4 หลักการ ซึ่งมีโครงสร้างเกี่ยวกับวิธีการที่องค์กรต่าง ๆ ดำเนินงาน ได้แก่ การกำกับดูแล กลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยงและผลกระทบ และ ตัวชี้วัดและเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี การพัฒนาภาคเศรษฐกิจและการเงินจำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง เกษตรกรรม และอาหารและเครื่องดื่ม มูลค่ารวมกันกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลจาก WEF และ PwC ณ ปี 2563) นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงการสูญเสียทางระบบนิเวศสูงกว่า ดังนั้น องค์กรจำเป็นต้องวางกลยุทธ์องค์กรให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่ง TNFD เป็นหนึ่งในกรอบการทำงานสากลที่หลากหลายและชุดคำแนะนำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพที่องค์กรหรือหน่วยงาน ซึ่งสามารถเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีได้

ทั้งนี้ การนำคำแนะนำของ TNFD ไปพิจารณาปรับใช้ จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ จะสามารถวิเคราะห์และวางกลยุทธ์เพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ ไปพร้อม ๆ กับการให้ข้อมูลสำหรับการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุน โดยคำแนะนำของ TNFD มีโครงสร้างที่สามารถเข้าใจได้ง่าย และทำให้บริษัทมีทางเลือกที่จะเริ่มปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ หรือเริ่มต้นวิเคราะห์การกระทำที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังสามารถใช้คำแนะนำเหล่านี้ประกอบกระบวนการตัดสินใจ โดยจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ

ปัจจุบันมีองค์กรร่วมเป็นสมาชิกฟอรัมของ Task Force on Nature-Related Financial Disclosures (TNFD) กว่า 1,400 แห่ง ทั้งภาครัฐ และเอกชน จากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก โดยมีองค์กรในประเทศไทยเป็นสมาชิกทั้งหมด 10 แห่งรวมถึง ก.ล.ต. สามารถดูรายชื่อของบริษัทและหน่วยงานในไทยสมาชิกฟอรัมของ TNFD ได้ที่ https://tnfd.global/engage/tnfd-community/?_sfm_is_forum_member=1#search-filter


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ