SJWD วิ่งสู่มาร์เก็ตแคปแสนล้าน ผนึกพันธมิตรขยายเครือข่ายโลจิสติกส์ ลุย M&A-ตั้งกอง REIT-ส่งบ.ย่อยเข้าตลาดหุ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 13, 2024 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SJWD วิ่งสู่มาร์เก็ตแคปแสนล้าน ผนึกพันธมิตรขยายเครือข่ายโลจิสติกส์ ลุย M&A-ตั้งกอง REIT-ส่งบ.ย่อยเข้าตลาดหุ้น

นายบรรณ เกษมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ (SJWD) เปิดเผยว่า บริษัทวาง 3 กลยุทธ์หลักในปีนี้ภายใต้งบลงทุนรวมกว่า 4,600 ล้านบาท เพื่อสร้างรายได้เติบโต 12% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 23,979 ล้านบาท และวางเป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) เป็น 100,000 ล้านบาทภายในปี 70

กลยุทธ์ทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ (1) ขยายและเชื่อมโครงข่ายโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในระดับภูมิภาค (Regional Connectivity & Expansion) (2) เพิ่มความแข็งแกร่งและยกระดับธุรกิจ "คลังสินค้าห้องเย็น" และ "ออโตโมทีฟ" (Strengthen & Scale up Cold Chain & Automative) และ (3) สร้างโอกาสจากธุรกิจใหม่ (New Business Opportunities)

SJWD วิ่งสู่มาร์เก็ตแคปแสนล้าน ผนึกพันธมิตรขยายเครือข่ายโลจิสติกส์ ลุย M&A-ตั้งกอง REIT-ส่งบ.ย่อยเข้าตลาดหุ้น

กลยุทธ์แรก Regional Connectivity & Expansion วางเป้าเพิ่มสัดส่วนกำไรจากต่างประเทศเป็น 40% ในปี 70 โดยที่ผ่านมาได้ขยายการลงทุนธุรกิจตัวแทนขนส่งสินค้าทางทะเล (Sea Freight) ตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Freight) และเข้าลงทุนในบริษัทให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนรายใหญ่ในมาเลเซีย เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งหลายรูปแบบอย่างไร้รอยต่อ ครอบคลุมทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ในภูมิภาคอาเซียนและจีน

ได้แก่ (1) เข้าถือหุ้น 4.2% ใน บมจ.ไซโน โลจิสติกส์ คอร์ปอเรชั่น (SINO) ซึ่งมีปริมาณขนส่งสินค้าทุกเส้นทางรวม 46,985 ตู้ในปี 66 และมีปริมาณขนส่งสินค้าทางทะเลเส้นทางไทย-สหรัฐเป็นอันดับ 1 ในไทยและอันดับ 6 ของโลก (2) เพิ่มถือหุ้นเป็น 20.12% ใน บมจ.เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล (ANI) ซึ่งเป็นตัวแทนขายระวางสินค้าให้แก่สายการบินต่าง ๆ (GSA) กว่า 20 สายการบิน ครอบคลุม 8 ประเทศ คือ ไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, เวียดนาม, กัมพูชา, เมียนมา, จีน และฮ่องกง มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 20% ในปี 66 และมีแผนขยายเครือข่ายให้บริการในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ยุโรป, ออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งคาดว่าปีนี้จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก ANI ประมาณ 185 ล้านบาทและ (3) เข้าซื้อหุ้น 20.44% ในบริษัท Swift Haulage Berhad (SWIFT) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมาเลเซีย ที่มีความเชี่ยวชาญการขนส่งทางรถและเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าด้วยรถเทรลเลอร์ (รถหัวลาก) รายใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย ช่วยเพิ่มศักยภาพให้บริการขนส่งสินค้าข้ามแดนในเส้นทางไทย - มาเลเซีย - สิงคโปร์ คาดว่าจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุน 55 ล้านบาทในปีนี้

SJWD วิ่งสู่มาร์เก็ตแคปแสนล้าน ผนึกพันธมิตรขยายเครือข่ายโลจิสติกส์ ลุย M&A-ตั้งกอง REIT-ส่งบ.ย่อยเข้าตลาดหุ้น

ทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวมีรายได้รวมกันในปีที่ผ่านมามากกว่า 10,000 ล้านบาท

ขณะที่แผนการลงทุนต่อจากนี้ บริษัทฯ เตรียมเข้าถือหุ้น 100% ในบริษัท เอสซีจี อินเตอร์ เวียดนาม จำกัด หรือ SCG Inter Vietnam จากบริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์แก่ Long Son Petrochemicals โครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเวียดนาม ของ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ภายในไตรมาส 2/67

นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม SJWD กล่าวว่า กลยุทธ์ที่ 2 "Strengthen & Scale up Cold Chain & Automative" บริษัทจะใช้จุดแข็งของบริการคลังสินค้าห้องเย็นครบวงจรแบบ End-to-End และบริการโลจิสติกส์แก่ผลิตภัณฑ์ยาครอบคลุมทั่วประเทศในการขยายตลาดเพื่อสร้างรายได้เติบโต 10% จากปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันมีคลังสินค้าห้องเย็นที่เปิดบริการแล้ว 6 ทำเล ได้แก่ สมุทรสาคร, บางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 17, 19, 22, สุวินทวงศ์ และสระบุรี รองรับสินค้าได้ 135,000 ตัน มีอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ย 74% และวางแผนขยายคลังสินค้าห้องเย็นอีก 5 ทำเล รองรับสินค้าได้อีก 34,000 ตัน ได้แก่ (1) DC คลังสินค้าห้องเย็น ย่านรังสิต 2 หลัง รองรับสินค้าได้ 23,000 ตัน (2) สาขาเชียงใหม่ จัดเก็บสินค้าได้ 1,500 ตัน และ (3) สาขาขอนแก่น จัดเก็บสินค้าได้ 1,500 ตัน (4) คลังห้องเย็นสระบุรีเฟส 2 จัดเก็บสินค้าได้ 8,000 ตัน นอกจากนี้จะรวมเครือข่าย FUZE POST ที่ให้บริการจัดส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วน เพื่อตอบสนองดีมานด์ตลาด B2B2C

ขณะที่ธุรกิจ "ออโตโมทีฟ" (บริการจัดเก็บและบริหารยานยนต์) วางเป้าหมายรายได้เติบโต 10% ในปีนี้ สอดคล้องกับตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่กำลังได้รับความนิยม ปัจจุบันบริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์แก่รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เชื้อเพลิงน้ำมันรายใหญ่ในไทย ครองส่วนแบ่งตลาด 30-35% พื้นที่ให้บริการรวมกว่า 870,000 ตารางเมตร บริษัทจะนำความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้จากการให้บริการแบบ End-to-End solution แก่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่นำเข้ามาจำหน่ายรวมทั้งชิ้นส่วนอะไหล่ นอกจากนี้ มีแผนนำโมเดลธุรกิจออโตโมทีฟให้บริการในเวียดนาม

ส่วนกลยุทธ์ที่ 3 "New Business Opportunities" จะโฟกัส 3 ธุรกิจ ได้แก่ (1) ธุรกิจคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit ที่ก่อสร้างตามความต้องการของผู้เช่า ภายใต้บริษัท แอลฟา อินดัสเทรียล โซลูชั่น จำกัด ซึ่ง SJWD ร่วมทุนกับ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) ปัจจุบันมีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างพัฒนารวม 9 ทำเล คิดเป็นพื้นที่คลังสินค้าให้เช่ารวมกว่า 500,000 ตารางเมตร รวมถึงมีแผนนำคลังสินค้าจัดตั้งกอง REIT ในปีนี้

ขณะเดียวกัน จะขยายธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์แก่อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์และยาที่มีศักยภาพเติบโตสูง โดยเตรียมคลังสินค้าในย่าน บางนา กม.22 พื้นที่กว่า 28,000 ตารางเมตรไว้รองรับ โดยจะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และยา และต่อยอดจากความเชี่ยวชาญของบริษัทฯ ด้านการให้บริการคลังสินค้าห้องเย็น คาดว่าจะสร้างรายได้แก่บริษัทฯ 70 ล้านบาทในปีนี้

นอกจากนี้ ได้วางเป้าหมายรายได้จากธุรกิจพื้นที่เก็บสินค้าให้เช่าภายใต้แบรนด์ "MeSpace Self Storage" 112 ล้านบาท เติบโต 53% จากปีก่อน โดยใช้ศักยภาพการเป็นผู้นำธุรกิจพื้นที่เก็บสินค้าให้เช่าอันดับหนึ่งที่มี 10 สาขาทั้งในกทม.และต่างจังหวัดพื้นที่รวม 30,000 ตารางเมตร โดยมี บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เป็นพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งร่วมกันขยายธุรกิจ

นายบรรณ ในปีนี้บริษัทมีแผนจะนำคลังสินค้าทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ พื้นที่รังสิต แหลมฉบัง บางนากม.22 และบางนากม.19 พื้นที่รวม 200,000 ตารางเมตร ขายเป็นสินทรัพย์จัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ที่มีขนาดไม่เกิน 4,000 ล้านบาทภายในไตรมาส 2/67 และเตรียมนำ บริษัท แอลฟา อินดัลเทรียล โซลูชั่น จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 68

ขณะที่ในปีนี้ยังเดินหน้าในการซื้อขายควบรวมกิจการ (M&A) ซึ่งมีอยู่ในไปป์ไลน์ประมาณ 4-5 โครงการ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนไม่เกินปี 68 ทั้งนี้ต้องดูช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการเข้าไปลงทุน ซึ่งธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนจะเป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดกับธุรกิจของบริษัทได้ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยมีความต้องการถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 20% เพื่อนำเอาเทคโนโลยี รวมทั้งบุคลากรเข้าไปช่วยเหลือในการทำงานและได้รับผลตอบแทนกลับมาที่เหมาะสม

สำหรับแนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 1/67 ยังเติบโตดีต่อเนื่องจากไตรมาส 4/66 ที่ผลประกอบการทำ New High โดยมาจากการเติบโตของทุก ๆ ธุรกิจ รวมทั้งรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากดีลต่าง ๆ อีกทั้งปี 66 บริษัทมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (One-time Cost) จากการทำดีลราว 200 ล้านบาท ซึ่งปีนี้คาดว่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายดังกล่าวแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ