KKP กำไร Q1/67 หดตัว YoY แต่ฟื้นโตพุ่ง QoQ จกาโอนกลับรายการพิเศษ NPL ทะยานรับจัดชั้นลูกหนี้ใหญ่

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 19, 2024 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/67 มีกำไรสุทธิจำนวน 1,506 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 124.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/66 แต่ลดลง 27.8% จากไตรมาส 1/66 เป็นผลมาจากการปรับลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

ขณะที่รายได้จากในไตรมาส 1/67 มีจำนวน 6,832 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.6% จากไตรมาส 1/66 จากรายได้ของธุรกิจนายหน้าประกันที่ปรับลดลงตามการชะลอตัวของการปล่อยสินเชื่อใหม่ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลง 8.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66 เนื่องจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ยังคง ตามภาวะทางด้านตลาดทุนที่ยังคงซบเซา ส่งผลให้รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดทุนที่ยังคงซบเซา แต่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังมีการเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66

อย่างไรก็ตามการที่กำไรในไตรมาส 1/67 เติบโตขึ้น 124.9% จากไตรมาส 4/66 มาจากการโอนกลับรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าทรัพย์สินรอการขายเป็นจำนวน 619 ล้านบาท ระหว่างไตรมาส 1/67 จากการที่ธนาคารได้มีการปรับประมาณการค่าเผื่อการปรับมูลค่าทรัพย์สินรอการขายเพื่อให้เป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องอสังหาริมทรัพย์รอการขาย

ขณะที่ธนาคารมีการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นจำนวน 609 ล้านบาท ลดลง 44.5% หากเทียบกับไตรมาส 1/66 นอกจากนี้แล้วในไตรมาส 1/67 ภายใต้หลักการบริหารคุณภาพสินเชื่อเชิงรุก ธนาคารได้มีการพิจารณาจัดชั้นเชิงคุณภาพสินเชื่อขนาดใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งธนาคารได้มีการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไว้ครบถ้วนแล้วในไตรมาส 4/66 ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 3.8% ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.2% ณ สิ้นปี 66 จากการที่ธนาคารได้มีการพิจารณาจัดชั้นเชิงคุณภาพสินเชื่อขนาดใหญ่รายดังกล่าว

ธนาคารคงความรอบคอบและมีการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างระมัดระวังและจากมาตรการต่างๆ ที่ธนาคารได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ ส่งผลให้ธนาคารเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นโดยผล ขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทยอยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

ด้านภาพรรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/67 ยังคงฟื้นตัวอย่างช้า แต่ยังมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ 3 เดือนแรกของปี 67 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามารวม 9.4 ล้านคน และภาคการส่งออก 2 เดือนแรกของปี 67 ยังคงขยายตัวได้ 6.7% ตามการฟื้นตัวของกลุ่มสินค้าอิเลคทรอนิกส์ แต่การบริโภคในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า จากปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่สูง อัตราดอกเบี้ยสูง เละความเสี่ยงของราคาน้ำมันโลกที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นตาม

สำหรับภาวะตลาดรถยนต์ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 67 ยังคงหดตัว 21.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของยอดขายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล สอดคล้องกับรายได้และกำลังซื้อในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง

ทางด้านตลาดทุน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET index) ลดลงต่อเนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ตลาดคาด ศักยภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มลดลง รวมทั้งปัจจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลให้ดัชนี SET index ในไตรมาส 1/67 ลดลง 2.7% โดยปิดที่ 1,377.94 จุด จาก 1,415.85 จุด ณ สิ้นปี 66 ส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาด เอ็ม เอ ไอ (mai) ในไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 45,717 ล้านบาท ปรับลดลง 14.3% จาก 53,331 ล้านบาท ในปี 66


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ