SCGP เทหน้าตักหมื่นล้านจ่อทำ M&P ธุรกิจศักยภาพโตคาดปิดดีลใหม่ Q2/67 คงเป้ารายได้ทั้งปี 1.5 แสนล้าน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 23, 2024 14:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SCGP เทหน้าตักหมื่นล้านจ่อทำ M&P ธุรกิจศักยภาพโตคาดปิดดีลใหม่ Q2/67 คงเป้ารายได้ทั้งปี 1.5 แสนล้าน

บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) วางงบลงทุน Merger & Partnership (M&P) 10,000 ล้านบาท ในธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโต เช่น ธุรกิจบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ เพื่อรองรับความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการผลิตและส่งออก จากงบลงทุนรวมปีนี้ 15,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาดีลที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCGP กล่าวว่า ในไตรมาส 2/67 บริษัทฯ คาดจะปิดดีล M&P ทั้งที่เป็นธุรกิจใหม่หรือธุรกิจเดิมที่มีการเจรจากันมานานแล้วได้ในไตรมาสนี้อย่างน้อย 1 ดีล ซึ่งจะเข้ามาหนุนผลการดำเนินงานให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย

บริษัทคาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/67 จะเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นไปตามความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม หลังผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่ในไตรมาสแรกไปแล้ว ขณะที่ไทยและอินโดนีเซีย แม้ดีมานด์จะยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่ แต่อาจได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ และวันอีดิลฟิตรี (วันถือศีลอด ของศาสนาอิสลาม)

แม้ว่าต้นทุนด้านพลังงานจะปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง แต่บริษัทได้มีการล็อกราคาถ่านหินเอาไว้หมดแล้ว หรือประมาณ 50% ของปริมาณการใช้งาน ทำให้ต้นทุนด้านพลังงานจะมีผลกระทบน้อยลงมาก นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมปรับราคาขายขึ้น ตามต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย

ส่วนการเข้าซื้อหุ้น PT Fajar Surya Wisesa (Fajar) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในอินโดนีเซียอีก 44.48% ซึ่งจะส่งผลให้ SCGP มีสัดส่วนการถือหุ้น Fajar เพิ่มขึ้นเป็น 99.7% (จาก 55.23% ในปัจจุบัน) คาดว่าดีลนี้จะแล้วเสร็จในเดือนก.ย.67 โดยวางงบลงทุนไว้ราว 500 ล้านเหรียญฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ SCGP ก็อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรเพื่อเข้ามาร่วมทุนใน Fajar จำนวน 2-3 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปได้ในเร็วๆ นี้

นายวิชาญ กล่าวว่า บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายรายได้ปี 67 ที่ 1.5 แสนล้านบาท ผ่านการขยายกำลังการผลิตโรงงานบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ แห่งใหม่ในไทย และเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิต ของโรงงานกระดาษบรรจุภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ และ การ M&P ในธุรกิจใหม่ และตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ในอาเซียนและอินเดีย รวมถึงการลดต้นทุนด้านพลังงาน ด้วย Machine Learning และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปยังธุรกิจในเวียดนามและอินโดนีเซีย

บริษัทมองว่าภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ภาคการผลิต การส่งออก การท่องเที่ยวของไทยที่ดี ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรมียอดขายเติบโตทุกกลุ่มสินค้า และเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของบรรจุภัณฑ์สินค้าคงทน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง

ขณะที่ธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ได้รับปัจจัยบวกจากความต้องการในประเทศและการส่งออกในบางพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียใต้ ส่วนธุรกิจเยื่อและกระดาษ มียอดขายบรรจุภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้นจากปัจจัยการท่องเที่ยวฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ความต้องการบรรจุภัณฑ์บางส่วนได้รับผลกระทบจากวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ของประเทศจีนและประเทศเวียดนาม และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ชะลอตัว รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบมีแนวโน้มค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้น ต้นทุนด้านพลังงานอยู่ในระดับทรงตัว

ขณะที่ค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางและเริ่มลดลงในช่วงครึ่งหลังของไตรมาส SCGP จึงได้มุ่งเน้นสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ด้วยการปรับพอร์ตสินค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด และการบริหารจัดการต้นทุนอย่างรอบคอบเพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานเชิงกลยุทธ์ให้มีประสิทธิภาพ

ผลงานไตรมาสที่ 1/67 SCGP มีรายได้จากการขาย 33,948 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นทั้งสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรและสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ มี EBITDA 5,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

และกำไรสำหรับงวด 1,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการดำเนินงานตามกลยุทธ์การเติบโต การจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนด้วยการนำ Machine Learning และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ และการบริหารต้นทุนวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพในภูมิภาคด้วยเครือข่ายจัดหาวัตถุดิบที่ครอบคลุมในไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย รวม 155 แห่ง เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น

สำหรับการเติบโตผ่านการขยายกำลังการผลิต ในเดือน มี.ค.SCGP ประสบความสำเร็จในการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกในจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรปราการ โดยมีกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 75,000 ตันต่อปี คิดเป็น 9% ของกำลังการผลิตเดิมในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและการพิมพ์ที่ทันสมัย เช่น ระบบหุ่นยนต์ (Robotic) ระบบการทำงานอัตโนมัติ (Automation) และแอปพลิเคชันสำหรับการพิมพ์ ฐานการผลิตแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ใกล้กับฐานการผลิตสินค้าแช่แข็งส่งออก ทำให้สามารถรองรับและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เพิ่มขึ้น และช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันด้านต้นทุนค่าขนส่ง

SCGP ยังมุ่งพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และวางกลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อรับมือต้นทุนวัตถุดิบและราคาพลังงานที่ผันผวน และการนำ Machine Learning และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ขยายใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่โรงงานในประเทศอินโดนีเซียและประเทศเวียดนามเพิ่มเติม รวมถึงมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 93 เพื่อร่วมลดคาร์บอนตามกรอบแนวคิด ESG


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ