THAI ด้อยค่าเครื่องบินเก่าล็อตสุดท้าย 3 พันลบ.-ขาดทุน FX ฉุดกำไร Q1/67 ลดฮวบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 10, 2024 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

THAI ด้อยค่าเครื่องบินเก่าล็อตสุดท้าย 3 พันลบ.-ขาดทุน FX ฉุดกำไร Q1/67 ลดฮวบ

บมจ.การบินไทย (THAI) ปลดภาระแบกเครื่องบินเก่า 18 ลำสุดท้าย หลังขายอออกหมดแล้ว โดยบันทึกด้อยค่าของเครื่องบินฯ 3.3 พันล้านบาท ในไตรมาส 1/67 ขณะที่เงินบาทอ่อนค่า ทำขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนกว่า 5 พันล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิของการบินไทย ลดลงกว่า 1 หมื่นล้านบาท เหลือ 2 พันกว่าล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯมั่นใจ EBITDA ปีนี้ทำได้เกินมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท รายได้รวมปีนี้ 1.8 แสนล้านบาท พร้อมยื่นไฟลิ่งการเพิ่มทุนก.ย.นี้ก่อนขายปลายปีนี้

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1/67 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,423 ล้านบาท ลดลง 88.7% หรือ 10,104 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 12,514 ล้านบาท และมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 14,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เป็นเงินจำนวน 14,054 ล้านบาท

THAI ด้อยค่าเครื่องบินเก่าล็อตสุดท้าย 3 พันลบ.-ขาดทุน FX ฉุดกำไร Q1/67 ลดฮวบ

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 45,955 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีรายได้รวม 41,507 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญจากการเติบโตของรายได้การขนส่งผู้โดยสารด้วยบริการเที่ยวบินขนส่งที่เพิ่มขึ้น และความต้องการเดินทางที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางทวีปยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 34,880 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,407 ล้านบาท (22.5%) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 28,473 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่ง จำนวนเที่ยวบิน จุดบิน และผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น การอ่อนค่าของเงินบาท รวมทั้งอัตราค่าบริการภาคพื้นและราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายปรับตัวสูงขึ้นในภาพรวม โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าว ได้แก่ ค่าใช้จ่ายการบริการผู้โดยสาร ค่าบริการการบินในต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องบินและอุปกรณ์ ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 11,075 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1,959 ล้านบาท (15.0%)

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,608 ล้านบาท มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่าย 4,036 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 5,372 ล้านบาท การด้อยค่าของเครื่องบิน และสินทรัพย์สิทธิการใช้ และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน 3,338 ล้านบาท แต่มีรายการปรับปรุงรายได้บัตรโดยสารที่หมดอายุ 4,136 ล้านบาท กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 493 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม 36 ล้าน

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ทำการบินในไตรมาสที่ 1 รวมทั้งสิ้น 73 ลำ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวน 8 ลำ โดยเป็นการทยอยรับมอบเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900 ที่จัดหาและนำมาปฏิบัติการบินระหว่างปี มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.8 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.1% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 10.1% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 83.5% ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งเฉลี่ยที่ 80.8% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 3.88 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.2%

*ขายเครื่องเก่าออกหมด 18 ลำ

นายชาย กล่าวว่า ปัจจุบัน การบินไทยได้ขายเครื่องบินเก่าออกหมด 18 ลำสุดท้าย โดยเป็นเครื่องบิน โบอิ้ง B777-200 จำนวน 6 ลำ ซึ่งได้ลงนามแล้ว ส่วนอีก 12 ลำ ได้แก่ โบอิ้ง B777-300 จำนวน 6 ลำ แอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญาที่คาดไว้ประมาณเดือนพ.ค.-มิ.ย. หลังจากนั้นการบินไทยจะไม่มีภาระเครื่องบินเก่าอีกแล้วจะเหลือชิ้นส่วน อะไหล่เครื่องยนต์ที่ไม่มีนัยสำคัญ ทำให้บริษัทไม่มีการบันทึกการด้อยค่าสินทรัพย์มมากแล้ว

อย่างไรก็ดี อัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเงินบาทอ่อนค่ายังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อบริษัท เพราะเงินบาทอ่อนทำให้หนี้สินในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อแปลงเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น และค่าบริการในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนค่าใช้จ่ายการบริหารสูงขึ้นมาจากการรับโอนเครื่องบิน A320 จำนวน 20 ลำจากบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ทำให้มีค่าใช้จ่ายซ่อมและบำรุงเพิ่มขึ้น แต่จะมีรายได้เพิ่มตามขึ้นมาในไตรมาสถัดไป

*กลับมาบินออสโล-มิลาน-บรัสเซลล์โกยรายได้เส้นยุโรป

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 2/67 คาดว่าจะอ่อนตัวลงจากไตรมาส 1/67 เพราะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น การเดินทางลดลง แต่จะไม่มีการบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ แต่ก็ยังต้องติดตามค่าเงินบาท

นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ THAI กล่าวว่า ในไตรมาส 2/67 คาด cabin Factor 78% โดยในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาซึ่งรับเทศกาลสงกรานต์ และ ช่วง Golden Week ทำให้ Cabin Factor สูงถึง 83%

โดยตลาดจีน และอินเดียยังมียอดเดินทางคึกคัก จากมาตรการฟรีวีซ่า ทั้งนี้ การบินไทยเตรียมเพิ่มความถี่ในเส้นทางเซี่ยงไฮ้ จาก 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 11 เที่ยวบิน/สัปปดาห์ และเส้นทางปักกิ่งจาก 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 10 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เริ่ม 1 ก.ค. 67 ขณะที่เตรียมจุดบินใหม่ เซี่ยะเหมิน คาดบินในปีหน้าเพราะเครื่องบินไม่พอ โดยปัจจุบันการบินไทย บินในจีน 5 เมือง

นอกจากนี้ในไตรมาส 2/67 จะเพิ่มความถี่ในออสเตรเลีย เส้นทางซิดนีย์ เพิ่มเป็น 2 เที่ยวบิน/วัน เส้นทางเมลเบิร์น 2 เที่ยวบิน/วัน และเส้นทางเพิร์ท 1 เที่ยวบิน/วัน เส้นทางยุโรป ก.ค.นี้จะกลับมาบิน ออสโล, มิลาน ส่วนในไตรมาส 4 นี้ จะบินบรัสเซลล์ สำหรับอินเดีย ปัจจุบันบินอยู่ 9 เมือง และจะเพิ่มจุดบินใหม่ที่ เมือง อัมริตสาส์ ในไตรมาส 4/67

ทั้งนี้ รายได้จากเส้นทางยุโรป 34.5% เอเชียเหนือ 32.8% เอเชียตะวันตกและตะวันออกกลาง 11.9% ออสเตรเลีย 7.2% อาเซียน 7.7% และเส้นทางภายในประเทศ 5.9%

โดยปีนี้ การบินไทยจะมีเครื่องบินเพิ่มเป็น 79 ลำ จากสิ้นปี 66 ที่ 70 ลำ โดยทยอยรับมอบเครื่องบินแอร์บัส A350-900 จำนวน 9 ลำ

*มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูปี 68 ตามเป้า

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI กล่าวว่า ในปี 67 การบินไทยยังคงเป้าหมายรายได้รวมที่ 1.8 แสนล้านบาท โดยเป็นรายได้จากธุรกิจการบิน 1.6 แสนล้านบาท อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 78% และมั่นใจ EBITDA ปีนี้มากกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งเข้าหนึ่งในเงื่อนไขการออกแผนฟื้นฟู ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบลดลง มาที่ 40,719 ล้านบาท จากติดลบ 42,142 ล้านบาทโดยบริษัทยังคงตั้งเป้าจะออกจากแผนฟื้นฟูในปี 68

"การบินไทยมีผลประกอบการบวกเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกันนับจากวันที่เริ่มแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อเดือนตุลาคม 65 ซึ่งดีกว่าตัวเลขประมาณการในแผนฟื้นฟูอย่างมาก" นานชายกล่าว

นางสาวเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี THAI กล่าวว่า แผนการเพิ่มทุนของการบินไทย คาดว่าจะยื่นไฟลิ่งเสนอขายหุ้นแพิ่มทุนได้ประมาณเดือน ก.ย. นี้ ที่ระหว่างนี้รอข้อมูลให้ครบถ้วนเสียก่อนรวมถึงผลประกอบการ ทั้งนี้ บริษัทจะเสนอแผนการขายหุ้นเพิ่มทุนต่อผูถือหุ้นเดิม (RO) นักลงทุนเฉพาะเจาะจง(PP) และผู้บริหารและพนักงาน (ESOP) คาดขายได้ปลายปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ