กลุ่มบจ.เครื่องใช้ไฟฟ้าเผยได้ประโยชน์น้อยช่วงรัฐทบทวนภาษี AD เหล็กแผ่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 30, 2008 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          แหล่งข่าวจากฝ่ายวางแผนการผลิต บมจ.กันยงอีเลคทริก(KYE) เปิดเผยว่า บริษัทคงไม่เร่งรีบนำเข้าเหล็กแผ่นจากต่างประเทศแม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนภาษี AD เหล็กแผ่นนำเข้า ซึ่งทำให้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีจากนี้จะไม่มีการเก็บภาษี AD นั้น เพราะถึงแม้ว่าจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าแผ่นเหล็กถูกลง แต่การทำธุรกิจจะต้องเดินไปตามแผนงานที่วางไว้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นภาระในด้านต้นทุน
ปัจจุบัน บริษัทฯได้นำเข้าแผ่นเหล็กมาใช้ในการผลิตตู้เย็น โดยจะนำเข้ามาจากประเทศ ญี่ปุ่น, เกาหลี รวมถึงมีการสั่งซื้อแผ่นเหล็กจากผู้ผลิตในประเทศไทยด้วย ซึ่งบริษัทฯได้ตั้งเป้าการผลิตตู้เย็นไว้ที่ 6 แสนตู้ต่อปี แต่ถ้ายอดขายดีก็อาจจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นได้
แหล่งข่าวจาก บมจ.คอมพาสส์ อีสต์ อินดัสตรี้(ประเทศไทย)หรือ CEI กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯไม่ได้มีการนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นแผ่นเหล็ก แต่จะนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นชิ้นส่วนแล้วนำมาประกอบเป็นพัดลมติดเพดาน ดังนั้น แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนภาษี AD เหล็กแผ่นนำเข้าจาก 14 ประเทศ ซึ่งทำให้ช่วงนี้ไม่ต้องเก็บภาษี AD ประมาณ 1 ปีอย่างที่เป็นข่าว ทางบริษัทฯก็ไม่ได้รับประโยชน์ตรงนี้แต่อย่างใด
“เมื่อก่อนเราเคยนำเข้าแผ่นเหล็กมาใช้ในการผลิตสินค้า ซึ่งตอนนั้นก็เสียภาษีประมาณ 12-15% แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำแล้ว ดังนั้นเราจึงไม่ได้รับประโยชน์อะไร แต่ก็ไม่แน่ไม่นอน ต่อไปเราอาจจะมีโครงการใหม่ที่ต้องใช้แผ่นเหล็กนำเข้าก็ได้ ซึ่งก็จะทำหรือไม่นั้นก็ต้องดูสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ด้วย โดยเราคงจะไม่เร่งที่จะออกโครงการใหม่เพื่อรับสิทธิประโยชน์ตรงนี้" แหล่งข่าวจาก CEI กล่าว
ด้านผู้บริหารของ บมจ.ไดสตาร์ อิเลคทริก คอร์เปอเรชั่น(DISTAR)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า แม้ว่าจะกระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนภาษี AD เหล็กแผ่นนำเข้า และทำให้ช่วงนี้ไม่ต้องเก็บภาษี AD บริษัทฯก็ไม่ได้รับประโยชน์แต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทได้เปลี่ยนไลน์ธุรกิจไปทำเกี่ยวกับยานยนต์เต็มตัว
"ตอนนี้ไม่ได้ทำเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว ณ ตอนนี้บริษัทฯยังไม่ได้มีการนำเข้าแผ่นเหล็กมาใช้ เหล็กตอนนี้ที่เราใช้ในการทำ TV เราไม่มีแล้ว แต่เหล็กที่เราใช้ผลิตรถ เราใช้เยอะพอสมควร ก็มีทั้งแผ่นเหล็กและเป็นโครงสร้าง แต่ตอนนี้เรานำเข้า ซึ่งเรานำเข้ามาเป็นชิ้น ๆ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ใช้ในการประกอบรถ และการนำเข้านี้ก็ต้องเสียภาษีเหมือนกัน แต่ไม่ได้มีภาษี AD"ผู้บริหาร DISTAR กล่าว
การดำเนินธุรกิจของบริษัทในปัจจุบันยังเป็นไปด้วยดี หลังจากปรับมาทำธุรกิจด้านยานยนต์มาประมาณ 1 ปีแล้ว ขณะที่พยายามเคลียร์ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า และในส่วนของการรับประกันสินค้าก็พึ่งจะหมดไปเมื่อเดือนที่แล้ว(เม.ย.)ทั้งหมด จากนี้ไปบริษัทฯก็มุ่งสู่การทำรถ NGV อย่างจริงจัง เพียงอย่างเดียว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ