"ทนง"ระบุหุ้นไทยยังทรุดจากซับไพร์ม แต่มีโอกาสฟื้น-การเมืองจุดเสี่ยง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 5, 2008 18:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายทนง พิทยะ อดีตรมว.คลัง คาดการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังไม่ดี จากปัญหาซับไพร์ม ที่มีแนวโน้มผลกระทบมาสู่เอเชีย แต่เชื่อนักลงทุนต่างชาติยังไม่ถอนการลงทุนออกจากหุ้นไทยหมด ขณะเดียวกันก็มองว่าปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะไม่อาการหนักเหมือนในปี 40 แต่ยอมรับยังมีภาวะเสี่ยง โดยเฉพาะด้านการเมือง 
"ภาวะ(ตลาดหุ้น)เช่นนี้ จะนานเพียงใด ตอบได้ยาก เพราะยังมีความไม่แน่นนอนอยู่พอสมควรว่า ปัญหาซับไพร์มยังไม่จบ โดยในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ จะพบว่า ไม่รู้ว่าปัญหาจะปะทุที่ไหน ... ในเอเชียแม้จะมองว่า ปัญหาไม่มากนัก แต่ยังไม่รู้ว่า ซับไพร์มในญี่ปุ่นและจีน จะมีมากน้อยเพียงใด เพราะบัญชีของบริษัทและธนาคารในเอเชียจะประวิงเวลาออกไปมากกว่า เพราะระเบียบอาจด้อยกว่าในสหรัฐและยุโรปที่ระเบียบเข้มงวดรุนแรงมากกว่า" นายทนงกล่าว
ส่วนวิกฤตเศรษฐกิจไทยเขื่อว่าจะไม่เกิดอีกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2540 เพราะช่วงนั้นวิกฤตเกิดจากมีการสร้างหนี้สินเกินตัว แต่ขณะนี้ประเทศไทยมีทุนสำรองมากกว่าภาระหนี้ แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่บ้าง เพราะปริมาณเงินลงทุนของต่างชาติในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่าทุนสำรองของประเทศ
ส่วนการลงทุนของต่างชาติยังเชื่อว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดแห่งหนึ่งในโลก นักลงทุนต่างประเทศยังคงเชื่อมั่นในพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และมองว่า ประเทศได้พัฒนาในระดับที่พร้อมจะพัฒนาอุตสาหกรรมได้ มีแรงงานที่มีทักษะ และมีผู้บริหารที่สามารถพัฒนาได้
"ความมั่นใจทางพื้นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศยังมีอยู่ แต่แน่นอนว่า เรื่องความเสี่ยงจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงตัวหนึ่งที่กระทบเฉพาะนักลงทุนหน้าใหมที่ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนในไทย ที่จะเข้ามาเพราะหาก ติดตามข่าวสารจากสื่อจะไม่เข้าใจ เห็นว่า มีความรุนแรง ก็จะรอดูเหตุการณ์ว่า จะพัฒนาไปในทางไหนจะจบลงเมื่อใด" นายทนงกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ ไม่ได้กระทบนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว ที่อาจเคยชินกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยที่ถึงแม้จะมีความยุ่งเหยิงอยู่บ้าง แต่ก็มีความสงบ ไม่มีการนองเลือด ไม่มีความรุนแรง นักลงทุนที่ลงทุนในไทยอยู่แล้วถือว่า ไม่ได้กระทบการทำธุรกิจ จึงพร้อมที่อยู่ในประเทศไทยและขยายกิจการต่อ
ด้านปัญหาเงินเฟ้อของประเทศไทยนั้น นายทนงมองว่า ยังไม่สูงมากนัก โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับใดล้เคียงกับประเทศจีน และไม่น่าเป็นห่วง เพราะปัญหาดังกล่าว เกิดจากต้นทุนพลังงานเป็นสำคัญ ที่น่าเป็นห่วงคือ ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากพลังงาน ที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร แต่ประเทศไทยโชคดีที่เป็นประเทศส่งออกอาหารและมีผลผลิตเพียงพอ ดังนั้น ผลกระทบต่อไทยน้อยกว่าประเทศอื่น
นอกจากนี้ด้านดอกเบี้ยนโยบาย โดยส่วนตัวเห็นว่าิ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรพยายามดูแลให้ดอกเบี้ยต่ำที่สุด และการที่ ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปนั้น เชื่อว่า เพื่อปรามไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และในที่สุดเงินเฟ้อยังเกิดจากต้นทุนพลังงานเป็นหลัก ซึ่งปีหน้าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มลดลงจากราคาพลังงานพลังงานซึ่งเริ่มคงที่หรือเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ส่วนราคาอาหารไม่น่าห่วงนักเพราะประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่จะมีเพียงพอกับความต้องการของประชาชน
นอกจากนี้เห็นว่าสถาบันการเงินไทยควรดำเนินการควบรวมกิจการโดยมีธนาคารพาณิชย์แบบครบวงจร (Universal Banking) และสามารถแข่งขันในระดับโลก เพียง 3 แห่งเท่านั้น เพระปัจจุบันประเ?สไทยมีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ถึง 6-7 แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นธนาคารระดับจังหวัดหรือให้บริการภายในประเทศ ทั้งนี้ประเทศญี่ปุ่นยังมีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เพียง 3 แห่ง รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ปัจจุบันมี 2-3 แห่งนั้นถือว่ามากเกินไปควรควบรวมกิจการหรือให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้มากกว่า 25% และหากเป็นนักลงทุนไทยได้ก็จะดีมากหากมีฐานะการเงินที่เพียงพอต่อการเข้าลงทุน เพราะหากธนาคารพาณิชย์ของรัฐไม่สามารถดูแลตนเองได้จะเพิ่มภาะต่อประชาชนหากมีการเรียกเงินสำรองเพิ่มเงินที่ต้องตั้งสำรองเพิ่มเป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งนั้น
ส่วนการเปิดเสรีทางการเงินโดยส่วนตัวเป็นเรื่องที่ดีเพราะประเทศไทยมีแผนพัฒนาการเงินที่ก้าวหน้าอันดับต้นๆของอาเซียนทั้ง มาเลซีย สิงคโปร์ แต่ประเทศไทยยังควรมีฝ่ายกำกับดูแลยังไม่ควรเปิดเสรีทั้ง 100% เพราะจะมีเงินหมุนเวียนจากต่างประเทศจำนวนมากและเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงมีการกำกับหลังการเปิดเสรีเช่นเดียวกันนอกจากนี้วัฏจักรการเปลี่ยนแปลงทางการเงินเปลี่ยนแปลงรวดเร็วซึ่งสถาบันการเงินต้องศึกษารายละเอียดอย่างใกล้ชิดและสถาบันการเงินควรระมัดระวังเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเพราะอัตราแลกเปลี่ยนจะเชื่อมโยงกับอัตราดอกเบี้ย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ