TUNTEX เล็งกู้แบงก์อีก 2 พันลบ.ลงทุนปรับปรุงโพลิเอสเตอร์-ขยายผลิต PET

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 24, 2008 10:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ผู้บริหารแผน บมจ.ทุนเท็กซ์(ประเทศไทย)หรือ TUNTEX คาดว่า อีก 1-2 สัปดาห์กระบวนการฟื้นฟูฯน่าจะเสร็จเรียบร้อยหลังได้บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส(IVL)เข้ามาถือหุ้นใหญ่ และเตรียมกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพเพิ่มอีก 2 พันล้านบาทเพื่อใช้ขยายลงทุนทั้งการปรับปรุงเครื่องจักรในสายการผลิตโพลีเอสเตอร์ และการขยายไลน์ในธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติก(Chip) 
นายโสฬาร สุทธิพงศ์คณาสัย กรรมการบริษัทฯ ในฐานะผู้บริหารแผน TUNTEX กล่าวว่า IVL จะเข้ามาบริหารงานและดำเนินงานตามแผนที่ commit ไว้กับธนาคารเจ้าหนี้ โดยทำธุรกิจผลิตเส้นใยโพลิเอสเตอร์ และจะปรับเปลี่ยนสายการผลิตหนึ่งไปทำเม็ดพลาสติก PET โดยใช้เครื่องจักรเดิมของบริษัทส่วนหนึ่ง ซึ่งจะต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มจำนวนหนึ่ง ปีแรกคาดผลิตเม็ดพลาสติก PET ได้ประมาณ 300-400 ตันต่อวัน หรือปีละ 100,000 กว่าตัน
ทั้งนี้ IVL เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสัดส่วน 65.81% ของบริษัท ซึ่งสัดส่วนการถือหุ้นหลัง IVL เข้ามา จะเป็นกลุ่ม IVL ถือ 66% เจ้าหนี้บางส่วน(BBL)และที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย
"รายได้เบื้องต้นหลังเริ่มกำลังการผลิตใหม่ยังไม่ชัดเจนในตอนนี้ เพราะต้นทุนวัตถุดิบและราคาก็จะเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ แต่ตามที่ผู้ถือหุ้นใหญ่คาดตลาดยังมีความต้องการสินค้าเหล่านี้อยู่มาก โดยเรารับจ้างผลิตส่วนจะส่งออกหรือเปล่า อยู่ที่ผู้ว่าจ้างจะไปจัดการอีกที ต้นทุนของเราก็จะมีพวกวัตถุดิบรองต่าง ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายเครื่องจักร ค่าน้ำค่าไฟเหล่านี้ ส่วนวัตถุดิบหลักผู้ถือหุ้นใหญ่ก็จะซัพพลายเข้ามาให้"นายโสฬาร กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ผู้บริหารแผน กล่าวว่า ธุรกิจเส้นใยโพลิเอสเตอร์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เดิมของ TUNTEX จะเริ่มผลิตมากขึ้นโดยเบื้องต้นคาดว่าเมื่อเครื่องจักรใหม่พร้อม ก็จะสามารถผลิตได้ 200 กว่าตัน/วัน เนื่องจากเส้นใยโพลิเอสเตอร์ยังมึความต้องการอยู่ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องใส่เสื้อผ้า แต่ก็ต้องปรับปรุงการผลิตใหม่ โดยเน้นต้องหาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ๆ ที่มีมูลค่าจะผลิตเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว
ปัจจุบัน บริษัทยังเดินเครื่องกำลังการผลิตโพลิเอสเตอร์อยู่ประมาณ 5% หรือมีรายได้เดือนละประมาณ 30 ล้านบาท ยังคงเดินเครื่องไปเรื่อยๆ และหลังจากที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เข้ามาก็จะขยายในส่วนของเส้นใยสังเคราะห์ด้วย โดยขณะนี้บริษัทเริ่มรับพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นแล้วเพื่อรองรับการผลิตใหม่ โดยใช้พื้นที่โรงงานเดิม
"ช่วงที่การเมืองวุ่นวายกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ไม่ได้กังวลโดยใส่เงินมาเรียบร้อยแล้ว...เม็ดเงินที่ IVL เพิ่มทุนเข้ามาประมาณ 550 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับการลงทุน โดยจะต้องกู้เพิ่มอีก 2,000 กว่าล้านบาท โดยกู้จากธนาคารเจ้าหนี้เดิมคือธนาคารกรุงเทพ"นายโสฬาร กล่าว
นายโสฬาร กล่าวว่า การที่หุ้นของ TUNTEX จะกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์รอบใหม่ได้เมื่อใดนั้นคงต้องขึ้นกับผลประกอบการของบริษัทเป็นหลัก ซึ่งจะต้องเข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือจะต้องเห็นผลกำไรติดต่อกัน 3 ไตรมาสก่อน
"อาจจะก่อน 18 เดือน หรือหลัง 18 เดือนไปก็ได้ ตรงนี้ขึ้นอยู่ที่แผนการตลาดแผนการผลิตของผู่ถือหุ้นใหญ่" นายโสฬาร กล่าว
ตามแผนฟื้นฟูกิจการ TUNTEX ได้ลดทุนโดยการลดพาร์โดยปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 824 ล้านบาท จากเดิม 2,780 ล้านบาท หลังจากปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นแล้วตอนนี้ไม่มีขาดทุนสะสมเหลืออยู่ ส่วนจะเป็นผลกำไรได้เมื่อไรก็ต่อเมื่อเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่ที่ผลประกอบการด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ