(เพิ่มเติม) รมว.คลัง พร้อมสานต่อ"หมอเลี้ยบ"พัฒนาตลาดทุน เน้นโปร่งใส-น่าเชื่อถือ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 1, 2008 13:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง ตรวจเยี่ยมหน่วยงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) รับฟังความเห็นฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยืนยันพร้อมสานต่อนโยบายของ รมว.คลัง คนเก่าตามแผนพัฒนาตลาดทุน เน้นความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และไม่มีแนวคิดเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่รัฐบาลชุดเดิมได้แต่งตั้งไว้          
รมว.คลัง กล่าวภายหลังหารือร่วมกับประธาน และผู้บริหาร ตลท. รวมทั้งสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนว่า ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวทางการพัฒนาตลาดทุน เพื่อให้มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน เช่น การขยายเพดานการลงทุน LTF และ RMF ที่สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี, การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน และไม่คิดใช้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเครื่องมือ
สำหรับมาตรการต่างๆ ในการพัฒนาตลาดทุน เช่น มาตรการภาษีส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนใหม่ก็ยังยืนยันนโยบายเดิมที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ดำเนินการไว้ รวมทั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ได้มีการแต่งตั้งไว้ก่อนหน้านี้ก็จะเดินหน้าต่อไป ไม่มีการแต่งตั้งชุดใหม่เข้าไปแทน แม้ว่าจะมีกระแสวิพาษ์วิจารณ์กรรมการบางคน แต่ก็ถือว่าเป็นแค่ความเห็นของคนส่วนหนึ่งในสังคม
"เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในสังคมโลกการแสดงความเห็นตรงข้ามกันไม่ใช่เรื่องที่ดี" นายสุชาติ กล่าว
รมว.คลัง กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดทุนไทยมีขนาดใหญ่กว่าระบบธนาคารพาณิชย์ถึง 1.4 เท่า ซึ่งในช่วงเกิดวิฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 40 ตลาดทุนมีส่วนช่วยในการระดมทุนภาคเอกชนให้กับระบบธนาคารพาณิชย์ โดยตั้งแต่ต้นปี 51 ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางการเงินของสหรัฐ ทำให้ดัชนีปรับลดลงไปถึง 27% แต่ถือว่าเป็นไปตามภูมิภาค ซึ่งในระยะยาวเชื่อว่าตลาดทุนในประเทศต่างๆ จะมีการแข่งขันกันมากขึ้น
ขณะที่โครงสร้างตลาดทุนของไทยยังมีการกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ราว 71 แห่ง ซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม(มาร์เก็ตแคป)คิดเป็น 83% ของมาร์เก็ตแคปของตลาด และฐานผู้ลงทุนยังมีสัดส่วนต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร คือ 1.45% เท่านั้น
ดังนั้น การแก้ปัญหาวิกฤติทางการเงินของสหรัฐต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียว โดยรัฐบาลจะไม่ยกเลิกนโยบายที่มีมาในอดีต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ