"ศุภวุฒิ"เสนอลด VAT เหลือ 4%-ลดดบ. 1.5% ชี้แค่ขาดดุลงบฯ ยังไม่พอ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 24, 2008 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ(หัวหน้าสายงานวิจัย)บล.ภัทร(PHATRA)เสนอภาครัฐลดภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)เหลือ 4% จาก 7% ในปัจจุบัน แต่ให้ใช้เป็นมาตรการระยะสั้นเพียง 1 ปี เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยเป็นมาตรการที่ไม่จำเป็นต้องผ่านรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท

"ผมกลัวว่าการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐจะล่าช้า แต่ถ้ารัฐลด VATจาก 7% มาเหลือ 4% ซึ่งทำได้ตามกฎหมาย ไม่ต้องผ่านสภา และที่มั่นใจได้ ไม่ได้กลัวเรื่องคอร์รัปชั่น ไม่มีการรั่วไหลระหว่างทาง"นายศุภวุฒิ กล่าวในงานสัมนาหัวข้อ"ทิศทางเศรษฐกิจการเงินไทย"

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าทางการควรปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1.5% ยิ่งปรับลดเร็วก็ยิ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้ไม่เกิดเงินฝืด รวมถึงภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือสินเชื่อของเอสเอ็มอี ซึ่งขณะนี้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ

นายศุภวุฒิ กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะเพิ่มจำนวนขาดดุลงบประมาณอีก 1 แสนล้านบาทเป็น 3.5 แสนล้านบาท อาจจะยังไม่ดีพอถ้าการเบิกจ่ายภาครัฐไม่ดี จากที่เห็นในช่วงไตรมาส 3/51 ปรากฎว่าการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังใข้ได้ ขณะที่การเบิกจ่ายของรัฐบาลยังติดลบ จึงมองว่ารัฐบาลจะกลายเป็นจุดอ่อนเสียเอง

ขณะที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยังประเมินสถานการณ์ได้ยาก ซึ่งหากจบได้เร็ว แต่จบแบบไหนก็ต้องมาประเมินกันใหม่ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นได้สะท้อนปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ

ขณะเดียวกันก็มองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะถึงจุดต่ำสุดในปลายไตรมาส 1 ถึง ไตรมาส 2 ปี 52 และจากนั้นจะค่อยๆฟื้นตัวซึ่งใช้เวลานานพอสมควร

"รัฐบาลจะต้องกำหนดเศรษฐกิจ จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งปัญหาจะอยู่กับเราไปอีก 4-5 ปี กว่าการบริโภคจะกลับมาเป็นปกติ"นายศุภวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาเศรษฐกิจไทยในปี 51 กลัวเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันปรับขึ้นสูงในช่วงครึ่งปีแรก แต่ครึ่งปีหลังกลัวเงินฝืด แทนจากที่เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าจะแย่ลง ปัญหาการว่างงานเกิดขึ้นแน่ โดยเฉพาะธุรกิจส่งออก ทั้งนี้เห็นว่าปัญหาจะแก้ยากกว่า ปี 40 ทั้งนี้ บล.ภัทร คาดว่า GDP ปี 52 จะโต 3.3%

ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทะวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ คาดว่า GDP ของไทยในปี 52 จะเติบโตราว 2-3% จากผลกระทบเศรษฐกิจโลก ซึ่งเชื่อว่ากว่าจะฟื้นตัวต้องใช้เวลานานและส่งผลกระทบต่อไทยค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะภาคการส่งออกอันดับต้น ๆ ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยาง ยานยนต์ ประกอบกับ ความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานาน

ฉะนั้น ภาครัฐจะต้องมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหา และกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณให้เร็วขึ้นในปี 52


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ