ก.ล.ต.ออกเกณฑ์ให้บจ.รายงานส่วนได้เสียภายในบอร์ด/เลื่อนตั้งกก.อิสระให้ครบปี53

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 14, 2009 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. และ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ได้มีมติเห็นชอบการออกและปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่และความชัดเจนของหลักเกณฑ์ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชน

ได้แก่ การปรับปรุง/ออก หลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) แบ่งเป็น (1)การรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการ ที่กฎหมายหลักทรัพย์ฉบับแก้ไขได้กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารต้องรายงานการมีส่วนได้ส่วนเสียต่อบริษัททราบ และทำสำเนาให้ประธานกรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบทราบภายใน 7 วันทำการ เพื่อจะได้ระมัดระวังการทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นควรให้แต่ละบริษัทกำหนดรูปแบบรายงานกันเองให้เหมาะสมกับบริษัท เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ก.ค.52

"เรื่องการรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการและผู้บริหาร เพื่อให้รับผิชอบและเกิดความระมัดระวัง และ ซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งกฎหมายเก่าก็มีอยู่แต่ในฉบับแก้ไขเขียนใหั้ชัดเจนขึ้น เพื่อกันไม่ให้คนดีถูกฟ้อง และยังให้เปิดเผยข้อมูลไว้ก่อน" นายชาลีกล่าว

รวมทั้ง (2)คุณสมบัติกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ ได้มีการผ่อนคลายข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติกรรมการอิสระที่ได้ผ่อนผันการมีส่วนได้เสีย ด้านความสัมพันธ์ทางธุรกิจ หรือเป็นผู้ให้บริการวิชาชีพได้ และยังเลื่อนการมีผลบังคับใช้ที่ให้บริษัทจดทะเบียนแต่งตั้ง กรรมการอิสระจำนวน 1 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมก และต้องมีไม่ต่ำกว่า 3 คน โดให้เริ่มถือปฏิบัติตั้งแต่การประชุมสามัญผู่ถือหุ้นประจำปี (AGM) ปี 53 จาก AGM ปี 52 เพื่อให้ภาคเอกชนมีเวลาปรับตัว และจะไม่มีการเลื่อนการบังคับใช้หลักเกณฑ์นี้อีกแล้ว

แต่หากบริษัทจดทะเบียนเป็นหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุม สามารถแต่งตั้งอดีตข้าราชการชของภาครัฐเป็นกรรมการอิสระได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้พ้น 2 ปี ส่วนบริษัทจดทะเบียนทั่วไปให้เลื่อนการใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาความสัมพันธ์ในอดีต 2 ปี เป็นการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีในปี 54 เลื่อนจาก AGM ปี 53

และ (3) การทำรายการเกี่ยวโยงกับหน่วยงานของรัฐ กฎหมายฉบับแก้ไข ระบุ ธุรกรรมที่บริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย เช่น การชำระภาษี ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค ถือว่าไม่เป็นรายการเกี่ยวโยงกัน และผ่อนปรนการทำรายงานเกี่ยวโยงกับภาครัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นไม่น้อยกว่า 90% เช้น กองทุนบำเหน็ญบำนาญข้าราชการ(กบข.) สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นต้น ให้สามารถทำได้ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น แต่ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

*เพิ่มกลุ่มบุคคลมีเจตนาร่วมกันทำเทนเดอร์ มีผล 1 ส.ค.52

นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับตลาดทุนเห็นชอบให้กำหนดลักษณะความสัมพันธ์หรือพฤติกรรมที่เข้าลักษณะเป็นการกระทำร่วมกับบุคคลอื่น(acting in concert) ซึ่งเป็นหนึ่งในการพิจารณาการมีหน้าที่รายงานการได้มาและจำหน่ายหลักทรัพย์ และการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์(Tender Offer) โดยประกาศที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.52

ลักษณะที่เข้าเข้าข่าย ได้แก่ การมีข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้สิทธิออกเสียงไปในทางเดียวกัน การชักชวนบุคคลอื่นให้ได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน การให้บุคคลอื่นใช้สิทธิออกเสียงของตนในการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างเป็นปกติและต่อเนื่อง (แต่ไม่รวมถึงการมอบฉันทะให้แก่กรรมการอิสระ ผู้รับฝากหลักทรัพย์ หรือผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับมอบฉันทะ) การซื้อขายหลักทรัพย์ของกิจการในราคาต่ำโดยไม่มีเหตุอันควรกับบุคคลอื่น ยกเว้นการซื้อขายระหว่างบิดา มารดา กับบุตรที่บรรลุ นิติภาวะ เป็นต้น และเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ซึ่งมีผลกับผู้ลงทุนในวงกว้าง จึงจำเป็นต้องใช้เวลาศึกษาและทำความเข้าใจ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุนเห็นชอบให้กำหนดลักษณะการกระทำหรืองดเว้นกระทำการของกิจการที่ถูกเสนอซื้อที่อาจมีผลต่อการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (frustration action หรือ anti-takeover) ไว้ดังนี้ การได้มาหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ การก่อหนี้ที่มีนัยสำคัญและมิใช่การดำเนินการปกติของกิจการ การซื้อหุ้นคืนโดยกิจการ รวมถึงการสนับสนุนให้บริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมซื้อหุ้นของกิจการ เป็นต้น

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าว จะกระทำมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน หรือได้รับความยินยอมจากผู้ทำคำเสนอซื้อ หรือได้รับผ่อนผันจากสำนักงานหรือคณะอนุกรรมการวินิจฉัยการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ