IRP คาดปี 52"อินโดรามา เวนเจอร์ส"ทำรายได้กว่า 3 พันลบ.,ตั้งบ.ใหม่ในสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 19, 2009 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาลก โลเฮีย กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อินโดรามา โพลีเมอร์ส (IRP) เปิดเผยว่า บริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส จะมีรายได้ในปีนี้ มากกว่า 3,000 ล้านบาท จากธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องประเภทโพลีเอสเตอร์ของกลุ่มที่อยู่ในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด เป็นบริษัทในประเทศไทย โดยมีกลุ่มตระกูลโลเฮียเป็นเจ้าของ และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยคือ ธนาคารกรุงเทพ และดีอีจี (Investitions und Entwicklungsgesellschaft GmbH หรือ DEG) ซึ่งเป็นสมาชิกของสถาบันเครดิตเพื่อการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (KfW)

ทั้งนี้ บริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส ได้เริ่มปรับโครงสร้างองค์กรของกลุ่มธุรกิจตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา โดยหลังการปรับโครงสร้าง บริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส จะมีการแบ่งธุรกิจของบริษัทออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ คือ เม็ดพลาสติก (PET resins) พีทีเอ (Polyester Intermediates หรือ PTA) เส้นใยสังเคราะห์และด้ายโพลีเอสเตอร์ (Polyester Fibers & Yarns) และ ไหมพรม (Woolen Yarns) โดยกลุ่มสุดท้ายนั้นมีรายได้คิดเป็นประมาณ 2% ของรายได้ทั้งหมด

ในกลุ่มของธุรกิจเม็ดพลาสติกจะดำเนินการโดยบริษัทอินโดรามา โพลีเมอร์ส ซึ่งมีหน่วยการผลิต 8 แห่งในหลายประเทศได้แก่ ไทย เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ลิธัวเนีย และ สหรัฐอเมริกา โดยมีความสามารถในการผลิตทั้งหมด 1.7 ล้านตันต่อปี และมีแผนการจะจัดตั้งบริษัทอัลฟ่าเพ็ท (AlphaPET) ในสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อตั้งแล้วบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส จะกลายเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก

ในกลุ่มพีทีเอ บริษัทได้มีหน่วยผลิตอยู่ในประเทศไทยและประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยได้ซื้อหุ้นจำนวน 50.60% ของบริษัททุนเท็กซ์ ปิโตรเคมีคอลส์ (ประเทศไทย) จากธนาคารกรุงเทพ ในปี 2551 ในปัจจุบันบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส มีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 1. 6 ล้านตันต่อปี

ในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์และด้ายโพลีเอสเตอร์และ กลุ่มไหมพรม บริษัทมีหน่วยผลิตอยู่ในประเทศไทยกลุ่มละสองหน่วย โดยหลังจากการซื้อหุ้นของบริษัททุนเท็กซ์ เท็กซ์ไทล์ (ประเทศไทย) ในปี 2551 บริษัทได้กลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในประเทศ และชำนาญในการผลิตสินค้าเฉพาะทางต่างๆ

“อินโดรามา เวนเจอร์ส จะเป็นหนึ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องของโพลีเอสเตอร์ที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งมีกลยุทธ์คือ ใช้ความร่วมมือกันของธุรกิจต่างๆของบริษัทเพื่อเสริมสร้างคุณค่าและลดต้นทุนลงจนในปัจจุบันถือว่าเป็นผู้ผลิตที่ใช้ต้นทุนต่ำมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งทั่วโลก ในขณะนี้ ธุรกิจต่างๆในกลุ่มก็ได้ดำเนินการภายใต้บริษัทอินโดรามา เวนเจอร์สแล้ว จึงสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุน ทั้งทางด้านไอที โลจิสติกส์ การจัดซื้อวัตถุดิบ และอื่นๆ ซึ่งเป็นการตัดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนของแต่ละบริษัทย่อยออกไป" นายอาลกกล่าว

นอกจากนี้ ธุรกิจโพลีเอสเตอร์ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกมากนัก เนื่องจากธรรมชาติของผลิตภัณฑ์และผู้ซื้อนั้นแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่น ทำให้บริษัท ฯ สามารถทุ่มเทให้กับการพัฒนาธุรกิจในระยะยาวได้อย่างเต็มที่



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ