N-PARK ประนอมยอมความกับ"ไทยสมุทรฯ" เสนอผถห.ชำระด้วยหุ้น BMCLหรือเงินสด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 29, 2009 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. แนเชอรัล พาร์ค (N-PARK) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552 มีมติให้บริษัททำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด โดยบริษัทจะชำระเงินจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อยุติคดีแพ่งและคดีล้มละลาย โดยแบ่งชำระเป็นงวดๆ ดังต่อไปนี้

งวดที่แรก ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาตามยอมบริษัทจะชำระเงินจำนวน 75 ล้านบาท, งวดที่ 2 ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2552 บริษัทจะโอนหุ้นสามัญใน บมจ. รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) จำนวน 50,968,148 หุ้น หรือ ชำระเป็นทรัพย์สินอื่นที่ไทยสมุทรยอมรับได้ หรือชำระเงินจำนวน 19,893,270 บาท

งวดที่ 3 ภายในวันที่ 15 เมษายน 2552 บริษัทจะโอนหุ้นสามัญใน BMCL จำนวน 134,645,926 หุ้น หรือ ชำระเป็นทรัพย์สินอื่นที่ไทยสมุทรยอมรับได้ หรือชำระเงินจำนวน 52,553,365 บาท และ งวดสุดท้าย ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2552 บริษัทจะโอนหุ้นสามัญใน BMCL จำนวน 134,645,926 หุ้น หรือ ชำระเป็นทรัพย์สินอื่นที่ไทยสมุทรยอมรับได้ หรือชำระเงินจำนวน 52,553,365 บาท

ทั้งนี้ การชำระในงวดที่ 2 - 4 ด้วยหุ้นหรือทรัพย์สินอื่นนั้น ต้องปราศจากภาระผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น และ ภายใน 4 เดือนนับแต่วันที่บริษัทชำระเงินให้ไทยสมุทรครบถ้วนแล้ว ไทยสมุทรจะยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์คดีล้มละลายของศาลล้มละลายกลาง อีกด้วย

อนึ่ง บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (โจทก์) ("ไทยสมุทร") ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหนี้รายหนึ่งในแผนฟื้นฟูกิจการ ได้ยื่นฟ้องบริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) (จำเลย) ("บริษัท") ในคดีแพ่งคดีหมายเลขดำที่ 6732/2542 (คดีหมายเลขแดงที่ 3507/2543) ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2551 บริษัทได้รับคำพิพากษาจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งพิพากษาให้จำเลยชำระเงินโจทก์ 200 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.42 ต่อปีนับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 จนถึงวันที่ 10 กันยายน 2540 และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามรายละเอียดที่ได้แจ้งให้ทราบแล้วนั้น

ผลของคำพิพากษาดังกล่าวทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองหนี้สินเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 386 ล้านบาทในงบการเงินระหว่างกาลสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2551 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อฐานะทางการเงินของบริษัทและการดำเนินกิจการในอนาคต

ผู้บริหารของบริษัทได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวและเห็นว่า แม้ว่าหนี้สินดังกล่าวได้เกิดขึ้นเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ก่อนที่บริษัทจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันบริษัทมีความจำเป็นต้องเร่งประนีประนอมยอมความโดยเร็ว เพื่อลดภาระการตั้งสำรองหนี้สิน ซึ่งจะส่งผลทำให้ฐานะการเงินของบริษัทดีขึ้น รวมไปถึงการยุติคดีล้มละลาย เพื่อความอยู่รอดของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ