ก.ล.ต.ปรับกฎเหล็กป้องปรามปั่นหุ้นดึงโบรกฯ ร่วมรับผิดชอบ-คุมเข้ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 2, 2009 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ได้หารือกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์และมีความเห็นร่วมกันที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการป้องปรามการปั่นหุ้นโดยให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลอย่างจริงจัง

“การป้องปรามและปราบปรามปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จจำเป็นต้องได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากบริษัทหลักทรัพย์ เพราะเป็นด่านแรกที่ติดต่อกับผู้ซื้อขายหลักทรัพย์ จึงน่าจะรับรู้ถึงความผิดปกติได้ก่อน การดำเนินการมาตรการดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นแนวทางใหม่ในการกำกับดูแลการปั่นหุ้น โดยการให้สมาคม และ บล. เข้ามามีส่วนร่วมควบคุมดูแลการปั่นหุ้นให้ใกล้ชิดมากขึ้น และให้ บล. มีความรับผิดชอบมากขึ้น"นายธีระชัย กล่าว

สำหรับมาตรการประกอบด้วย กำหนดให้บล.มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของพนักงานที่มีส่วนร่วมในการปั่นหุ้น โดยจากนี้ไป บล.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแลพนักงานที่ติดต่อกับผู้ลงทุนอย่างใกล้ชิด และตั้งแต่นี้เป็นต้นไปหาก ก.ล.ต.พบว่าพนักงานของ บล.ใดมีส่วนร่วมในการปั่นหุ้น นอกจากจะลงโทษพนักงานแล้ว ก.ล.ต.จะพิจารณาลงโทษ บล. นั้นด้วย จะมีตั้งแต่การ sanction ในฐานะที่ บล.นั้นไม่จัดให้มีระบบในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานที่รัดกุมเพียงพอ และอาจไปถึงขั้นกล่าวโทษ บล. นั้นด้วย

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการช่วย บล.ในการเสริมสร้างระบบการควบคุมดูแลพนักงานในเรื่องดังกล่าว ก.ล.ต.และสมาคม บล.จะร่วมกันเร่งจัดทำวิธีการปฏิบัติงาน ได้แก่ ควบคุมบัญชีลูกค้าที่ไม่เคลื่อนไหวให้รัดกุมมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา ก.ล.ต. พบว่ามีการกระทำผิดของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน โดยใช้บัญชีลูกค้าที่ไม่มีความเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน ทำการซื้อ ขาย หรือโอนหลักทรัพย์ออกจากบัญชีโดยที่ลูกค้าไม่ทราบเรื่อง และเป็นเครื่องมือในการปั่นหุ้นได้ทางหนึ่ง

กำหนดขั้นตอนการทบทวนวงเงินสำหรับบัญชีลูกค้า สมาคมจะยกร่างแนวทางการทบทวนวงเงินบัญชีลูกค้า เพื่อให้ บล.ดำเนินการเป็นประจำ โดยให้ บล.คำนึงถึงพฤติกรรมการซื้อขาย และพฤติกรรมการชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ของลูกค้าประกอบด้วย เช่น ลูกค้ารายเดียวที่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หลายบัญชี หรือลูกค้ารายที่โอนเงินครั้งเดียวเพื่อจ่ายค่าซื้อหลักทรัพย์ในหลายบัญชี เป็นต้น

ก.ล.ต. จะมีหนังสือเวียนเพื่อกำชับให้ บล. ต้องจัดเก็บเทปคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์อย่างครบถ้วนไม่มีข้อยกเว้น และขยายเวลาการจัดเก็บเทปดังกล่าวจาก 1 เดือนเป็น 3 เดือน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับมาตรฐานสากล, ปรับปรุงเกณฑ์ turnover list ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะยังมีหลักทรัพย์บางรายการที่พิจารณาจากฐานะและวิธีการดำเนินการของบริษัทแล้วควรจะต้องติดอยู่ในรายการนี้ เพื่อให้ บล.เพิ่มความระมัดระวังและกำหนดให้เป็นหลักทรัพย์ที่สมควรต้องซื้อด้วยเงินสด ดังนั้น จึงจะปรับปรุงสูตรการคัดเลือกหลักทรัพย์ให้ครอบคลุมมากขึ้น

ก.ล.ต. จะรวบรวมข้อมูลหุ้นที่ บล.กำหนดให้ลูกค้าต้องซื้อด้วยเงินสด(บัญชี cash balance) โดยระบุจำนวน บล. ที่ดำเนินการดังกล่าว และเปิดเผยเฉพาะแก่ บล. เพื่อให้ บล. สามารถนำไปใช้ประกอบการบริหารความเสี่ยง, จะปรับปรุงแบบรายงาน margin loan ตามที่สมาคมเสนอ ด้วยการให้ บล.รายงานหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันทุกรายการ(จากเดิมที่ให้รายงานเฉพาะหลักทรัพย์ที่อยู่ใน 10 อันดับแรก)และจะสรุปยอด margin loan แต่ละหลักทรัพย์ทั้งระบบ เพื่อเผยแพร่แก่ บล.รวมทั้งจะศึกษาการเผยแพร่ข้อมูลอื่นที่จะเป็นประโยชน์ด้วย เช่น ข้อมูลยอด margin loan แต่ละหุ้นเทียบกับ free float ของหุ้นนั้น เป็นต้น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหาร margin loan ในระบบไม่ให้กระจุกตัวในหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งมากเกินไป

ก.ล.ต. จะร่วมกับสมาคมเพื่อกำหนดกระบวนการทำงานของ บล. เพื่อ บล. จะสามารถใช้เป็นแนวทางในการควบคุมดูแลพนักงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ บล. ที่ได้ดำเนินการในขอบเขตที่ตนเองพึงรับผิดชอบเต็มที่แล้ว (เป็น safe harbor) เช่น บล. ได้เข้าไปห้ามปราม ตักเตือนหรือสกัดกั้นการกระทำนั้นของพนักงานแล้ว เป็นต้น

ด้านนายกัมปนาท โลหเจริญวนิช นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า ปัญหาการปั่นหุ้น นอกจากจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดทุนแล้ว ยังกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทหลักทรัพย์อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่พนักงานของบริษัทมีส่วนร่วมในการกระทำผิดดังกล่าว สมาคมจึงจะให้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต. อย่างเต็มที่ในการปรับปรุงระบบการควบคุมภายใน และสอดส่องดูแลพฤติกรรมของพนักงานในบริษัทอย่างใกล้ชิดและควบคุมเข้มงวด เพื่อมิให้เกิดปัญหาดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ