NNCL ปรับกลยุทธดันรายได้จากอสังหาฯและสาธารณูปโภคแทนขายที่,หาลูกค้าใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 5, 2009 10:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.นวนคร(NNCL)ปรับกลยุทธดันรายได้จากการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์และบริการสาธารณูปโภคทดแทนรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1/52 ต่อเนื่องไตรมาส 2/52 เร่งหาช่องเจาะลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องมือแพทย์ที่ยังมีศักยภาพเพียงพอในการขยายธุรกิจ หลังจากกลุ่มยานยนต์และอิเลคทรอนิกส์ที่เคยเป็นลูกค้าหลักวูบไปอย่างชัดเจน พร้อมชะลอลงทุนใหม่ขอรอมองภาพรวมให้ชัดเจนก่อน

นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บมจ.นวนคร(NNCL) เปิดเผยกับ"อินโฟเควทส์"ว่า บริษัทเห็นแนวโน้มการชะลอตัวของยอดขายที่ดินตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 51 ต่อเนื่องมาถึงต้นปีนี้ โดยคาดว่าจะเห็นชัดเจนขึ้นอีกในช่วงไตรมาส 2/52 จากผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกที่เกิดความผันผวนอย่างหนัก ทำให้ยังไม่สามารถคาดการณ์ยอดขายที่ดินในปีนี้ได้

ท่ามกลางภาวะเช่นนี้บริษัทจึงปรับกลยุทธหันมาเร่งหารายได้อื่นเสริมแทนการขายที่ดิน โดยคาดว่าปีนี้รายได้จากบริการสาธารณูปโภคจะมากกว่าขายที่ดินแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัย คอนโดฯ เพื่อเป็นตัวสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย และยังเป็นรายได้ที่ค่อนข้างมั่นคง แม้ว่าอาจจะมีผลกระทบบ้างจากโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งลดกำลังการผลิตหรือชะลอการขยายกำลังการผลิต แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นปิดกิจการ ทำให้การใช้น้ำอาจจะน้อยลงแต่กำไรก็ยังถือว่าอยู่ในระดับพอใช้ได้

"การขายที่ดินในปีนี้ประเมินยากเพราะตอนนี้โรงงานยังวางแผนไม่ถูกเพราะลูกค้าหลายรายตอนนี้ยังมีปัญหาในเรื่องออเดอร์อยู่บอกไม่ได้เลยว่าครึ่งปีแรกจะเป็นอย่างไร เท่าที่ดูไตรมาสแรกก็ยังไม่มีอะไรกระเตื้องขึ้นเพราะลูกค้าใหญ่จะเป็นทางด้านสหรัฐ ยุโรป ก็อยู่ระหว่าง recycle ถึงมีนโยบายแก้ไขอะไรออกมา แต่ก็ยังไม่เห็นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร คงจะรอดูผลจากไตรมาส 1 อีกทีว่าจะเป็นอย่างไร"

นายนิพิฐ กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการในปี 51 โดยรวมก็ยังเป็นกำไรสุทธิ เนื่องจากงวด 9 เดือนมีกำไร 134.63 ล้านบาท แม้ว่าจะลดลงจากงวดเดียวกันปีก่อน เนื่องจากรายได้จากการขายที่ดินลดลง ซึ่งทั้งปีคงจะเป็นกำไรแต่อาจจะลดลงจากปี 50 ที่มีกำไร 330 ล้านบาท

ในด้านยอดขายที่ดินในปี 51 ลดลงมากจากปี 50 ที่มียอดขาย 500-600 ล้านบาท และรายได้รวม 1,148 ล้านบาท แต่ในด้านรายได้จากบริการสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นมากทั้งน้ำและโครงการใหม่ คือ ที่จอดรถสาธารณะ คาดว่าจะสร้างรายได้ให้บริษัทประมาณ 10 ล้านบาท/ปี เริ่มรับรู้รายได้ต้นเดือน ก.พ.นี้ และกำลัง planing ระบบคมนาคมภายในเพื่อเพิ่มรายได้อื่นๆ ทดแทนการขายที่ดิน

"ปีนี้รายได้สาธารณูปโภคจะมากกว่าขายที่ดินแน่ๆแต่จะเป็นเท่าไรขอดูรายละเอียดในไตรมาสแรกก่อน ดีไม่ดีสาธารณูปโภคจะมากกว่า 50% เพราะยอดขายที่ดินตกลง ปีนี้ยอดขายที่ดินจะตกลงจากปีก่อนอีกหรือไม่ ไม่แน่เพราะถ้าเราทำแผนเรื่อง discount เรื่องบิ๊กล็อตอะไรออกไปเราน่าจะได้ยอดขายที่ดีเข้ามาก็ได้ คิดว่าจะพูดได้ชัดเจนในไตรมาส 2 มากกว่า อย่างไตรมาสแรกทุกอย่างอึมครึมลูกค้ายังบอกอะไรไม่ได้เลย เราก็ไม่สามารถบอกอะไรได้ วางแผนอะไรก็ไม่ได้" นายนิพิฐ กล่าว

ปัจจุบัน ลูกค้าหลักของ NNCL มี 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนยานยนต์, อาหารแปรรูป และ อุปกรณ์การแพทย์ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือชิ้นส่วนยานยนต์ ออเดอร์ลดลงอย่างมาก ด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรดนิกส์บางโรงงานหยุดการผลิตชั่วคราว บางโรงอาจจำเป็นต้องขายกิจการ แต่ก็มีรายใหม่เข้ามาดำเนินการแทน บางโรงก็พอไปได้

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารยังถือว่ามีอัตราการขยายตัวที่ดีในระดับ 20-30% และที่น่าประหลาดใจคืออุปกรณ์การแพทย์ มีอัตราการขยายตัวตั้งแต่ 50-100% ดังนั้น บริษัทก็จะเน้นขยายโอกาสในการทำธุรกิจกับลูกค้ากลุ่มดังกล่าว โดยจะมองว่าจะร่วมกันพัฒนาหรือทำการตลาดอย่างไรให้เหมาะสมกับลูกค้า เช่น เรื่องของน้ำที่เรามีพร้อมอยู่แล้ว

ส่วนใน 2 อุตสาหกรรมที่มีปัญหาคงเป็นลักษณะจัดแพ็กเก็จระยะยาวหรือให้โปรโมชั่นพิเศษ ซึ่งยังต้องดูจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น อาจจะเปิดให้ผ่อนชำระเป็นรายจ่ายในระยะยาว

"เราไม่เสียโอกาสในอนาคต เราก็ล็อกลูกค้าไว้ได้ กลุ่มอุปกรณ์การแพทย์ เช่น ผลิตน้ำเกลือหรือเกลือแร่ สายน้ำยาต่างๆ เข็มฉีดยา พวกนี้จะเยอะขึ้น ปีที่แล้ว 40 กว่าล้านตัน ออเดอร์ปีนี้กลายเป็น 80 กว่าล้านตัน จะเห็นว่าสัดส่วนลูกค้าปีนี้กระจาย อาหารอาจจะได้ขึ้นมาบ้าง แต่ชิ้นส่วนรถยนต์คงน้อยลงต้องยอมรับ ด้านอิเล็กทรอนิกส์บางตัวไปได้"นายนิพิฐ กล่าว

ขณะเดียวกัน บริษัทก็จะหันมาทำในด้านการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อสร้างรายได้โดยไม่ต้องพึ่งนิคมอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว อย่างโครงการเดอะ นวไพรเวซี่ ในนิคมฯนวนครปทุมธานีที่เปิดจองแล้ว ในส่วนที่เป็นตลาด 400-500 ยูนิตเต็มหมดแล้วคาดว่าประมาณไตรมาส 3/52 นี้ก็เริ่มเข้ามาอยู่ได้ และจะมีคอนโดฯที่กำลังทำในเฟสแรก 10 หลัง ก็จะเป็นตัวที่มาเร่งการทำรายได้ revenues อีกอย่างหนึ่ง เราก็อาจจะเป็นการเจรจาให้ซื้อล็อตใหญ่ คิดว่านโยบายของบริษัทต่างๆ ในปีนี้ยังไงก็ต้องมี cash flow ให้ดีที่สุด

"performance เชื่อว่าคงตกกันทุกคน แต่คนที่จะอยู่ได้ต้องมี cash ในมือ ของเราไม่ถึงกับเยอะแต่ก็ไปได้"นายนิพิฐ กล่าว

โครงการเดอะ นวไพรเวซี่ ในส่วนที่เป็นตลาดมีเงินจองเข้ามาแล้ว บางส่วนจะเริ่มเข้ามาดำเนืนกิจการได้ก็ประมาณ ส.ค.เริ่มค้าขายจริงส.ค.-ก.ย.นี้ คาดว่าโครงการนี้เบื้องต้น (เฟสแรกเฉพาะตลาด) รายได้จะอยู่ที่ 180-190 ล้านบาท และตัวที่เป็นอาคารคอนโด 10 ยูนิตรวมแล้วน่าจะอยู่ประมาณ 600-700 ล้านบาท โดยตลาดเสร็จก่อนเปิดได้แน่นอนปีนี้ แต่คอนโดจะไปเปิดได้ปีหน้า

*ชะลอแผนลงทุน

นายนิพิฐ กล่าวว่า ปีนี้จะลงทุนใหม่หรือไม่ อะไรที่ไม่ดีเราก็ตัด อะไรที่ดีเก็บไว้ก่อนต้องศึกษาให้ดี งบลงทุนแต่ละปีตอนนี้ต้องจัดใหม่หมดเลยเพราะบางอย่างที่คิดไว้ก็อาจจะต้องชะลอไปเพราะ user ดีเลย์ บางอย่างก็ต้องเร่งขึ้นมา ตอนนี้เหนื่อยพูดลำบากเพราะถ้า user ยังพูดอะไรไม่ได้คนที่ทำเซอร์วิสหรือคนที่ขายให้ก็คาดการณ์ลำบาก คนขายรถยนต์ยังกำหนดไม่ได้ คนขายที่ดิน คนขายอุตฯ ก็มองภาพกันไม่ออกเป็นเรื่องสำคัญ อย่างนโยบายรัฐบาลที่ออกไปจะเกิดผลอย่างไรก็ไม่รู้ ตอนนี้อะไรที่เก็บเล็กผสมน้อยได้ก็ต้องทำไปก่อน เพราะถ้าขืนจะไปรอแต่ที่เป็นรายได้หลักที่เคยเข้ามาไม่ได้เพราะไม่รู้จะเป็นอย่างไร อะไรที่ save cost ได้ก็ทำจะเป็นรายได้ต่างๆ ขึ้นมาก็ต้องทำ

ส่วนลูกค้าค่ายรถยนต์ฮอนด้าตอนนี้ก็เงียบขอ planing ก่อน อย่างโตโยต้าที่ปทุมฯก็เงียบก่อนขอ planing ตอนแรกคิดว่า 90% แล้วแต่มาเจอเรื่องขาดทุนปีแรกในประวัติศาสตร์ก็ต้อง planing invesment ไว้ก่อน

ส่วนโรงไฟฟ้าคงเห็นแน่ แต่คงไม่ใช่ปีนี้เพราะโรงไฟฟ้ากว่าที่ บมจ.ปตท.(PTT) จะผลิตแก๊สให้ได้ปลายปี 2012-2013 เรายังมีเวลาอีกเป็นปีที่จะ plan งานเรื่องนี้ โรงไฟฟ้ามีกำลังการผลิตประมาณ 100-150 เมกะวัตต์ ปีนี้คงจะเป็นการเตรียมแผนงานและไฟแนนเชียลทั้งหลายมูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาท ที่เจรจากับพันธมิตรจากเกาหลีก็ยังอยู่เพิ่งไปคุยกันเมื่อไม่กีวันก็ยังต้องคุยกันต่อเพราะขยายวง ซึ่งมีทั้งจากญี่ปุ่นและเกาหลี เป็นผู้ประกอบการที่ทำทางด้านไฟฟ้าระดับใหญ่ลงทุนทางด้าน Power Plant ไฟแนนเชียลด้วย เป็นอินเวสเตอร์ใหญ่มี Knowhow ทางด้านนี้

"โรงไฟฟ้าต้องทำเพราะยังไงขึ้นมาก็เป็นรายได้ที่มีกำไรแน่นอน"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ