ทริสคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ ASIAN ที่ “BBB-/Negative"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 13, 2009 08:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของ บมจ. ห้องเย็นเอเชี่ยนซีฟู้ด (ASIAN) ที่ระดับ “BBB-" ด้วยแนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถ รวมถึงการมีสินค้าและตลาดรองรับที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทถูกลดทอนจากฐานะทางการเงินที่มีภาระหนี้ในระดับสูง และผลประกอบการธุรกิจทูน่าที่ยังไม่เป็นไปตามความคาดหมายถึงแม้จะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงลักษณะของอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรงและมีความผันผวน ตลอดจนมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ และความผันผวนของค่าเงินบาท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งที่มีต่อบริษัทในเรื่องของการผิดข้อกำหนดสิทธิในสัญญาเงินกู้เรื่องการดำรงอัตราส่วนทางการเงินและความเสี่ยงในระยะสั้นเกี่ยวกับการหาแหล่งเงินเพื่อนำมาชำระคืนหุ้นกู้ แนวโน้มอันดับเครดิตอาจกลับมาเป็น “Stable" หรือ “คงที่" หากบริษัทสามารถปรับเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ปัจจุบันให้สอดคล้องกับฐานะเงินทุนและกระแสเงินสดในอนาคต รวมทั้งจัดหาแหล่งเงินเพื่อนำมาใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้มูลค่า 300 ล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในเดือนเมษายน 2552 นี้ได้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทห้องเย็นเอเชี่ยนซีฟู้ดเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลของไทยซึ่งคาดว่าจะมียอดขายรวมในปี 2551 อยู่ที่ระดับประมาณ 8 พันล้านบาท ธุรกิจของบริษัทได้รับแรงหนุนจากการมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจอาหารทะเลมานาน บริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตั้งแต่ผลิตภัณฑ์พื้นฐาน เช่น กุ้งดิบแช่แข็ง ไปจนถึงสินค้าเพิ่มมูลค่า เช่น กุ้งชุบผงขนมปังและกุ้งซาชิมิแบบญี่ปุ่น นอกจากนี้ บริษัทยังมีตลาดเฉพาะสำหรับสินค้าประเภทปลาทรายด้วย การมีสินค้าที่หลากหลายและความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับลูกค้าช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการบริหารงาน โดยรายได้ส่งออกประมาณ 80% ของบริษัทมาจากการส่งออกอาหารทะเลไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

ในระหว่างปี 2548-2549 บริษัทใช้งบลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาทในโรงงานแปรรูปปลาทูน่าและธุรกิจอาหารกุ้ง การลงทุนดังกล่าวส่งผลให้ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยหลายประการทั้งจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและราคาปลาทูน่าที่ปรับตัวสูงเป็นประวัติการณ์ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสามารถของบริษัทในการสร้างกำไรจากธุรกิจใหม่ดังกล่าว ปัจจัยเหล่านี้รวมทั้งการขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนและเกิดภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเห็นได้จากฐานะการเงินที่ปรับลดลงอย่างชัดเจนในปี 2550 ฐานะการเงินของบริษัทเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2551 จากการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตปลาทูน่าและประโยชน์จากการปรับโครงสร้างองค์กรและนโยบายลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เริ่มเห็นผล ทริสเรทติ้งคาดว่าในระยะปานกลาง การเพิ่มผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าจะช่วยให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้จากการขายของบริษัทอยู่ที่ 6.7% เพิ่มขึ้นจาก 2.3% ในปี 2550 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ เดือนกันยายน 2551 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 68.7% จาก 72.0% ในปี 2550 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มเป็น 3.8 เท่าสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 จาก 1.6 เท่าในปี 2550 ผลประกอบการของบริษัทในระยะสั้นคาดว่าจะได้รับแรงกดดันยิ่งขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย อย่างไรก็ตาม หากแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องต่อไปจนถึงสิ้นปี 2552 บริษัทก็น่าจะมีเวลาในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่า

บริษัทห้องเย็นเอเชี่ยนซีฟู้ดมีอัตรากำไรในระดับที่ไม่สูงนักเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นในธุรกิจอาหารทะเล นอกจากนี้ยังมีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างผันแปรตามฤดูกาลเนื่องจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบและราคาสินค้า บริษัทถือว่ามีความเสียเปรียบในแง่ของการดำเนินธุรกิจที่ครบวงจรเมื่อเทียบกับผู้ส่งออกรายใหญ่ระดับโลกหลายๆ ราย ทั้งนี้ มาตรการกีดกันทางการค้ายังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความยากลำบากให้แก่ผู้ส่งออกอาหารทะเล แต่ในทางตรงกันข้าม มาตรการดังกล่าวอาจเป็นประโยชน์แก่บริษัทเนื่องจากบริษัทส่งออกขนาดเล็กจำนวนมากอาจไม่สามารถปฏิบัติตามกฎที่เข้มงวดยิ่งขึ้นได้และในอนาคตอาจต้องเลิกดำเนินธุรกิจในตลาดบางแห่ง ทริสเรทติ้งกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ