นายวีระศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.เคมีคอล(PTTCH) กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะแสวงหาโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ นอกเหนือจากแผนงาน 5 ปีที่กำหนดไว้เดิม โดยบริษัทสามารถจัดหาเงินลงทุนกว่า 6 หมื่นล้านบาทที่จะนำมาใช้ลงทุนในระยะ 5 ปี(52-56)ขณะนี้บริษัทกำลังศึกษารูปแบบการขยายธุรกิจทั้งการควบรวมกิจการหรือการต่อยอดธุรกิจ รวมถึงการขยายกำลังการผลิต
"เราประเมินกำลังของเราเองว่าที่จะลงได้ใน 5 ปีข้างหน้ามีอยู่ 6 หมื่นล้านบาท ตอนนี้กำลังประเมินความสามารถทางการเงิน รายได้จากผลประกอบการ และความสามารถในการกู้เงิน รวมถึงการลงทุนแต่ละอันก็ต้องคำนวณความเสี่ยง"นายวีระศักดิ์ กล่าว
ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คาดว่าบริษัทจะจัดหาวงเงินกู้หรือออกหุ้นกู้ไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากได้ออกหุ้นกู้ไปแล้วจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุน M&A ทั้งการเข้าไปควบรวมกิจการ และซื้อกิจการ รวมทั้งลงทุนด้วยตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม ความพร้อมในการลงทุนที่ 6 หมื่นล้านบาทจะใช้เงินจากผลประกอบการ เงินกู้ และกระแสเงินสด บริษัทต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุนในอนาคตตั้งแต่ปี 2552-2556 ซึ่งจากขีดความสามารถของบริษัทเชื่อว่าจะบริหารเงินให้เกิดประโยชน์
"ตั้งแต่วิกฤตมีคนมาเสนอขายธุรกิจด้านปิโตรเคมีให้กับบริษัท โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป และสหรัฐที่มีวิกฤติ แต่เรายังติดใจว่าโรงกลั่นในประเทศแถบนี้เป็นโรงกลั่นเก่า และมีอายุการใช้งานนานแล้ว ดังนั้นการเข้าซื้อกิจการต้องศึกษาโครงสร้างอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจ และณ วันนี้ ยังไม่รู้ว่าราคา bottom แล้วหรือยัง ซึ่งปีแรกคงยังไม่มีให้เห็น" นายวีระศักดิ์ กล่าว
สำหรับปี 52 ยังคงมั่นใจว่ารายได้จะเติบโตกว่าปีก่อน เนื่องจากกำลังการผลิตใหม่ 1 ล้านตันจะเริ่มทยอยเข้ามาตั้งแต่ปลายปี 52 โดยจะมี LLDPE 4 แสนตัน และ HDPE 2.5 แสนตัน ในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้าจะมีกำลังการผลิต LDPE อีก 3 แสนตันเข้ามาเพิ่ม ปัจจัยเหล่านี้คาดว่าจะช่วยให้บริษัทยังมีรายได้เติบโต แม้ว่าราคาขายผลิตภัณฑ์จะปรับตัวลดลงจากปีก่อน โดยปัจจุบันอยู่ประมาณ 900 เหรียญ/ตัน จากปีก่อนที่ขึ้นไปถึง 1.7-1.8 พันเหรียญ/ตัน
ส่วนปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ศาลปกครองจะให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษนั้น นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ทาง PTTCH ได้เข้าประชุมร่วมกับชาวบ้านและรมว.อุตสาหกรรม แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน มีเพียงการเสนอแนวคิดต่าง ๆ ซึ่งบริษัทก็พร้อมจะปฎิบัติตามทั้งฝ่ายภาครัฐและฝ่ายชุมชุม เพราะบริษัทตั้งใจจะใช้มาบตาพุดเป็นฐานการผลิตระยะยาว บริษัทเองก็มีพนักงานหลายหมื่นคนอยู่ประจำที่มาบตาพุด ดังนั้น เราก็เป็นเหมือนคนในชุมชนเดียวกัน
แต่บริษัทก็ต้องการให้ทางการมีแผนชัดเจนที่จะควบคุมมลพิษ เพราะการประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษจะทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นและคนในพื้นที่ไม่มั่นใจ อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเกษตรที่สำคัญ ถ้าหากประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นแน่นอน
ส่วนการที่รมว.อุตสาหกรรมมาวันนี้ไม่ได้มีการพูดว่าจะอุทธรณ์กรณีดังกล่าวหรือไม่ แต่โดยหลักการน่าจะมีการยื่นอุทธรณ์เพื่อไม่ให้เข้าใจว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตมลพิษ