ทริสคงอันดับเครดิตองค์กร SIRI ที่ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Positive"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 19, 2009 08:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Positive" หรือ “บวก" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำที่แข็งแกร่งในตลาดคอนโดมิเนียม ตลอดจนตราสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับในตลาดพัฒนาที่อยู่อาศัย และความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นแม้จะต่ำกว่าคู่แข่งก็ตาม อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวซึ่งจะส่งผลกระทบให้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ซบเซา รวมทั้งจากวงจรธุรกิจที่มีความผันผวน และนโยบายของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อบ้านกู้เงินได้ยากขึ้น ทั้งนี้ ในการให้อันดับเครดิต ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในตลาดคอนโดมิเนียมจากการที่อุปสงค์เริ่มล้นตลาดด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทแสนสิริจะยังคงสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางการเงินด้วยการบริหารการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมหลายโครงการให้เป็นไปตามแผนงาน โดยที่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทจะสามารรักษารายได้จากการมียอดขายรอการส่งมอบจากโครงการคอนโดนมิเนียมหลายแห่ง ความเสี่ยงจากการโอนโครงการคอนโดมิเนียมจะลดลงจากมาตรการทางภาษีของภาครัฐและนโยบายการเก็บเงินล่วงหน้าซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อสามารถเลือกชำระราคาเป็นเงินก้อนทันทีล่วงหน้าเพื่อได้ส่วนลดเป็นการตอบแทน นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะดีขึ้นเนื่องจากได้รับประโยชน์ทั้งจากเงินเฟ้อที่ลดลง มาตรการด้านภาษีของภาครัฐ และนโยบายที่มุ่งเน้นการควบคุมต้นทุนดำเนินงานยิ่งขึ้นนอกจากนี้ ในระยะสั้นยังคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะลดลงต่ำกว่า 50% เมื่อการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมหลายแห่งแล้วเสร็จและมีการโอนให้แก่ผู้ซื้อในช่วงเวลาที่มาตรการภาษียังไม่หมดอายุ

ทริสเรทติ้งกรายงานว่า บริษัทแสนสิริเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ณ เดือนธันวาคม 2551 บริษัทมีโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมสำหรับขายจำนวน 55 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 48,578 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นโครงการคอนโดมิเนียม 47% บ้านเดี่ยว 44% และทาวน์เฮ้าส์ 9% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด ราคาขายเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยโดยรวมลดลงเป็น 4.4 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์ที่เน้นตลาดที่อยู่อาศัยราคาปานกลางมากขึ้น ณ เดือนธันวาคม 2551 บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้ใกล้เคียง 17,000 ล้านบาท และมีมูลค่าโครงการในปัจจุบันพร้อมขายอีก 12,693 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นโครงการบ้านเดี่ยวมากที่สุดถึง 69% รองลงมาได้แก่คอนโดมิเนียม 22% และทาวน์เฮ้าส์ 9% บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและการมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่แข็งแกร่ง

แม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัว แต่บริษัทยังคงมีการเติบโตของยอดขายที่น่าพอใจจากการมียอดขายรอการส่งมอบในปริมาณมาก โดยบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 15,037 ล้านบาทในปี 2551 จาก 13,550 ล้านบาทในปี 2550 อย่างไรก็ตาม ยอดการจองของบริษัทลดลงมากถึง 40% เหลือ 10,430 ล้านบาทในปี 2551 ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่บริษัทเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยลดลงเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะความต้องการที่เริ่มหดตัว โดยมีการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมมูลค่า 5,608 ล้านบาทในปี 2551 ซึ่งสามารถสร้างยอดการจองเป็นจำนวนถึง 4,659 ล้านบาทในช่วงเดียวกัน

นอกจากนี้ แม้ว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์จากมาตรการภาษีของภาครัฐ แต่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าคู่แข่งรายอื่น บริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 12.2% ในปี 2551 จาก 10.2% ในปี 2550 และหากไม่รวมค่าใช้จ่ายจากการปรับปรุงโครงการ “คอนโดวัน" จำนวน 429 ล้านบาท อัตรากำไรจากการดำเนินงานของปี 2551 จะอยู่ที่ประมาณ 15% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทลดลงเล็กน้อยจาก 3.3 เท่าในปี 2550 เป็น 2.8 เท่าในปี 2551 และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานคงอยู่ที่ประมาณ 15%-18% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 47.5% ในเดือนธันวาคม 2550 เป็น 52.5% ในเดือนธันวาคม 2551 สืบเนื่องจากความต้องการใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมที่เพิ่มมากขึ้น

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ภาวะของตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับที่อยู่อาศัยในปีที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนอันเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและวิกฤติการณ์ทางการเงินของโลก แม้ในช่วงกลางปี 2551 อุปสงค์ของที่อยู่อาศัยจะกระเตื้องขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่บังคับใช้ในช่วงต้นปี แต่ในช่วงปลายปีก็หดตัวลงเนื่องจากปัจจัยลบหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อตลาดพร้อมๆ กัน แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2552 จะมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจะยังคงส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับที่อยู่อาศัยต่อไป

นอกจากนี้ การที่ธนาคารหลายแห่งเริ่มมีนโยบายที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวก็ยิ่งเป็นการจำกัดความสามารถในการกู้ยืมของผู้ซื้อบ้าน แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดจะช่วยให้ผู้ซื้อบ้านสามารถนำเงินซื้อบ้านในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาทไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ก็คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะปรับตัวลดลงประมาณ 10%-20% ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราติดลบในปี 2552 ดังนั้น ผู้ประกอบการควรต้องบริหารสภาพคล่องอย่างระมัดระวังและดำรงความยืดหยุ่นทางการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันต่างๆ ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ