นายกิดาการ สุวรรณธรรมา ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจอนุพันธ์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)กล่าวถึงการซื้อขาย Gold Futures ว่า บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดใน Gold Futures อยู่ที่ 13% หลังเปิดให้บริการผ่านไป 3 เดือน ซึ่งสูงกว่าส่วนแบ่งการตลาดโดยรวมในทุกสินค้าที่ 9.2% โดยการซื้อขาย Gold Futures ผ่าน Internet ปัจจุบันอยู่ที่ 18.42% สูงกว่าค่าเฉลี่ย Internet Volume ของตลาดที่ 15.19%
ขณะที่ Volume การซื้อขายมีทิศทางเพิ่มมากขึ้นในภาพรวม โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาทองคำในตลาดโลกแกว่งตัวมากเป็นพิเศษ ตลาด Gold Futures จะมีปริมาณการซื้อขายที่หนาแน่น โดยเฉลี่ยในเดือนแรก (กพ.) ที่ 320 สัญญาต่อวัน ขณะที่ปัจจุบัน เดือนเมษายนอยู่ที่ 652 สัญญาต่อวัน ซึ่งเทียบเท่าน้ำหนักทองคำ 32,600 บาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาทต่อวัน หรือเติบโต 104% จากในเดือนแรก และมีการซื้อขายสูงถึง 1,142 สัญญา/วัน เป็นสถิติสูงสุด
ปริมาณสถานะคงค้างโตจาก 630 สัญญาเป็น 1,795 สัญญา ซึ่งเทียบเท่าน้ำหนักทองคำประมาณ 90,000 บาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,400 ลบ. หรือโต 185% เทียบกับเดือนแรก และมีจำนวนสัญญาคงค้างสูงสุดร่วม 2,177 สัญญา หรือเทียบเท่าน้ำหนักทอง 108,850 บาท
แต่ถ้าหากช่วงไหนที่ดัชนี SET50 แกว่งตัวมากเป็นพิเศษ ผู้ลงทุนก็จะหันความสนใจมาที่ SET 50 Index Futures เนื่องจาก Futures เป็นสินค้าที่อยู่คู่กับความผันผวน
ส่วนทิศทางราคา Gold Futures หลังจากที่ Spot Gold ได้ทดสอบแนวต้านทางจิตวิทยาที่ 1000 usd/ounce และ แนวรับที่แข็งแกร่งบริเวณ 864 usd/ounce แล้ว ปัจจุบันทิศทางเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบ864 — 916 เหรียญ หรือราคา Gold Futures 14,700 - 15,500 บาท
"ตัวเลข 15,000 บาท ได้กลายเป็นฐานราคาใหม่ เมื่อไหร่ที่ราคาลดลงต่ำกว่านี้ จะเกิดแรงซื้อในทองคำแท่งเข้ามา เนื่องจากที่ระดับต่ำกว่า 15,000 บาทผู้ลงทุนระยะยาวเริ่มมองว่าลงทุนได้แล้ว ความเสี่ยงจึงค่อนข้างต่ำ นอกจากกรณีเศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ราคาทองอาจลงไปสร้างฐานราคาใต้ 15,000 บาทใหม่"นายกิดาการ กล่าวสำหรับการพัฒนาสินค้าอนุพันธ์นั้น ขณะนี้มีความเป็นไปได้ในการออกสัญญา Gold Futures หลากหลายขนาดสัญญา นอกเหนือจากขนาด 50 บาทในปัจจุบัน เพื่อเป็นทางเลือกให้นักลงทุนยิ่งขึ้น จึงคาดว่าจะมีนักลงทุนสนใจซื้อขายเพิ่มเติมในขนาดสัญญาใหม่ด้วย