บอร์ด AOT สั่งคิงเพาเวอร์จ่ายเงินชดเชยใช้พื้นที่เกิน เกือบ 1 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 30, 2009 18:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานกรรมการ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT)) หรือ ทอท. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ วันนี้ ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติข้อตกลงระหว่างทอท. กับบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ผู้รับสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้บริษัท คิงเพาเวอร์ จ่ายเงินชดเชยการใช้พื้นที่เกินกว่ากำหนดในสัญญาสัมปทานตั้งแต่เปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อเดือนก.ย.2549 จนถึงเดือนพ.ค.2552 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 989 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัท คิงเพาเวอร์ เสนอขอแบ่งจ่ายเงินเป็น 2 งวด คือ งวดแรกชำระ 514 ล้านบาท ภายในวันที่ 30 ส.ค.นี้ งวดสองชำระ 475 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ สำหรับสัญญาสัมปทานกำหนดให้ใช้พื้นรวม 5,000 ตารางเมตร แต่บริษัท คิงเพาเวอร์ ใช้พื้นที่จริง 11,000 ตารางเมตร ซึ่งบริษัทคิงเพาเวอร์ ก็ยอมรับที่จะจ่ายเงินเพิ่มเติมจากการใช้พื้นที่เกินสัญญาสัมปทาน

ส่วนการใช้พื้นที่ของบริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด ผู้รับสัมปทานร้านค้าเชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งสัญญากำหนดให้ใช้พื้นที่ 20,000 ตารางเมตรนั้น พบว่ามีการใช้พื้นที่จริงในช่วงแรกประมาณ 22,000 ตารางเมตร ต่อมาภายหลัง ทอท.ได้ขอคืนพื้นที่เพื่อใช้ด้านความปลอดภัย จึงทำให้เหลือพื้นที่ใช้จริง 18,000 ตารางเมตร ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาและคำนวณความเสียหายที่เกิดขึ้น

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้พิจารณาเรื่องที่บริษัท ไทย แอร์พอร์ตส์ กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ แท็กส์ ผู้รับสัมปทานงานให้บริการรถเข็นสัมภาระในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งยื่นฟ้องศาลให้คุ้มครองชั่วคราวกรณีที่ทอท. ยกเลิกสัญญาสัมปทาน โดยฝ่ายบริหารได้รายงานความคืบหน้าว่าศาลยกฟ้อง ทำให้ไม่มีการคุ้มครองชั่วคราว และกระบวนการก็จะดำเนินตามขั้นตอนกฎหมายปกติ

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนนั้น ทอท.อยู่ระหว่างการติดตามให้แท็กส์ชำระค่าปรับคิดเป็นเงิน 2,000 ล้านบาท หากแท็กส์ไม่ชำระก็จะฟ้องร้องศาลต่อไป ซึ่งขั้นตอนนั้น ทอท.ไม่สามารถยุติการฟ้องร้องได้ เพราะถือว่าแท็กส์เป็นผู้ผิดสัญญา ส่วนวงเงินค่าปรับนั้นก็คงไม่ลด เพราะคำนวณบนพื้นฐานของสัญญาที่ทั้งทอท.และแท็กส์ตกลงร่วมกันที่จะลงนามสัญญาไว้ก่อนหน้านี้

"ส่วนตัวก็เห็นว่าวงเงินค่าปรับค่อนข้างสูง เพราะมูลค่าสัญญาสัมปทานมีวงเงินประมาณ 500 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งศาลจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ทอท.คงไม่ปรับลดเองเพราะจะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน และหลังจากแท็กส์เปลี่ยนผู้บริหารผมก็ยังไม่ได้พบหรือเจรจาใดๆ" นายปิยะพันธ์ กล่าว

นายปิยะพันธ์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการป้องกันการลักขโมยทรัพย์สินในกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตามที่ผู้บริหารเสนอ โดยแบ่งเป็น 4 มาตรการ คือ 1. มาตรการทั่วไป จะเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการเข้าออกของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานภายในพื้นที่การขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระระหว่างสายพานลำเลียงกระเป๋าไปยังตู้คอนเทนเนอร์ 2.มาตรการเพิ่มเติม จัดชุดเฉพาะกิจและเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในช่วงที่มีเที่ยวบินขึ้นลงจำนวนมาก และกำหนดเวลาให้เจ้าหน้าที่ไปรอปฏิบัติงานเพียง 30 นาที

3.มาตรการในอนาคต จะเพิ่มกล้องวงจรปิดอีก 327 ชุด พร้อมกำหนดให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสวมเสื้อผ้าที่ไม่มีกระเป๋า และสวมเสื้อกั๊กสะท้อนแสง บอกชื่อสังกัดที่ชัดเจน มีการจัดลอคเกอร์เก็บของสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งจำกัดจุดเข้าออกจะต้องผ่านการตรวจค้น และ4.มาตรการลงโทษขั้นรุนแรง เมื่อพบผู้กระทำผิดนอกจากไล่พนักงานดังกล่าวออกนั้น ยังต้องลงโทษบริษัทเอกชนต้นสังกัดที่รับผิดชอบ คือ บริษัท บางกอกไฟล์ เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ (บีเอฟเอส) และ บมจ. การบินไทย (THAI) โดยมีโทษสูงสุดคือยกเลิกสัญญา พร้อมกันนี้ยังต้องให้หน่วยงานดังกล่าวรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการข้างต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ