(เพิ่มเติม) PTTCH คาดรายได้ H2 กว่า 4 หมื่นลบ.สูงกว่า H1, เชื่อต้นทุนปี 53 ลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 18, 2009 18:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พันธ์ทิพ อึ๊งผาสุข รองกรรมการผุ้จัดการใหญ่ สายวางแผนกลยุทธ์และกิจการต่างประเทศ บมจ.ปตท.เคมิคอล (PTTCH) คาดว่ารายได้ในครึ่งปีหลังของบริษัทจะสูงกว่า 4 หมื่นล้านบาท จากครึ่งปีแรกที่บริษัทมีรายได้ 3.8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์ทุกผลิตภัณฑ์ ปรับตัวสูงขึ้น โดยมีส่วนต่างราคาขายกับต้นทุนวัตถุดิบ (สเปรด)สูงขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทมีการปรับเป้าหมายราคาเฉลี่ยทั้งปี โดยสเปรดเอทิลีน ปรับเป็น 296 เหรียญ/ตัน จากเดิม 247 เหรียญ/ตัน , HDPE ปรับเพิ่มเป็น 306 เหรียญ/ตัน จากเดิม 282 เหรียญ/ตัน, MEG คาดว่าเพิ่มเป็น 79 เหรียญ/ตัน จากเดิม 59 เหรียญ/ตัน ซึ่งขณะนี้ตลาดมีซัพพลายมากทำให้สเปรดปรับขึ้นน้อยกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ขณะที่กำลังซื้อ MEG ทรงตัว

"ครึ่งปีหลังมั่นใจว่ารายได้จะสูงกว่า 4 หมื่นล้านบาท เมื่อประเมินจากสถานการณ์น้ำมันไม่น่าจะต่ำกว่า 60 เหรียญ/บาร์เรล ก็จะทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ของปิโตรเคมีสูงด้วย" น.ส.พันธ์ทิพ กล่าว

สำหรับกำลังการผลิตใหม่ นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTCH คาดว่า บริษัทจะมีกำลังการผลิตใหม่ในไตรมาส 4/52 โดยบริษัทจะเร่งการผลิตผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น (LLDPE) ขนาดกำลังการผลิต 4 แสนตัน/ปี ให้เสร็จภายในไตรมาส 4/52 จากแผนเดิมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/53 เพื่อให้สอดคล้องกับโรงแยกก๊าซที่ 6 ของบมจ.ปตท (PTT) ที่จะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/52

นอกจากนี้ในไตรมาส 4/52 จะมีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) อีก 3 แสนตัน/ปี ซึ่งเป็นไปตามแผน ส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE) จำนวน 3 แสนตัน/ปี จะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/53

หลังจากบริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มอีก 1 ล้านตัน/ปี จะทำให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทลดลง โดยบริษัทจะหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อพลิง 100% จากเดิมที่ใช้อยู่ 90% ที่เหลือเป็นนาฟทา

สำหรับความกังวลว่ากำลังการผลิตใหม่จะเข้ามาในไตรมาส 4/52 บริษัทก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ เพราะหากเศรษฐกิจโลกกลับมาดีขึ้น ผู้ผลิตน่าจะเก็บสต็อกสินค้าเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ชะลอการเก็บสต็อกในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับ ในช่วงวิกฤตก็มีหลายโรงปิโตรเคมีที่ปิดตัว ได้แก่ โรงงานเอทิลีนในสหรัฐอเมริกาที่ปิดไปถึง 13 แห่ง รวมกำลังการผลิตประมาณ 5 ล้านตัน/ปี โรงงาน HDPE ก็มีกำลังการผลิตหายไป 2 ล้านตัน/ปี ขณะที่ MEG หายไป 1 ล้านตัน/ปี

"จากที่เคยกังวลว่าซัพพลายใหม่จะล้นในตลาดโลกทั้งตะวันออกกลางและจีนที่กำลังจะเข้ามา และที่เข้ามาแล้วต้นไตรมาส 3 อาจจะไม่กระทบหนักอย่างที่เคยคาดการณ์ ไตรมาส 3 และ 4 ยังสบายใจได้ เพราะดีมานด์และซัพพลายยังตึงตัว" นายวีรศักดิ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ