KBAN13CA ปิดเทรดวันแรกที่ 2.62 บาท จากราคา IPO 2.60 บาท โดยเปิดตลาดที่ 2.62 บาท ขึ้นสูงสุดที่ 2.64 บาท และลงต่ำสุดที่ 2.58 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1.69 ล้านบาท
ขณะที่หุ้น KBANK ปิดที่ 71.50 บาท ลดลง 0.75 บาท (-1.04%) โดยเปิดตลาดที่ 72.00 บาท ขึ้นสูงสุดที่ 72.25 บาท และลงต่ำสุดที่ 71.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 235.49 ล้านบาท
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส แนะ"ขาย"ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในหุ้นสามัญของบมจ.ธนาคารกสิกรไทย รุ่น A (คอลวอร์แรนต์) หรือ DW-KBAN13CA ที่ราคาสูงกว่า 2.86 บาท เพื่อให้ได้รับกำไร (Capital Gain) ที่ระดับ 10% ซึ่งเห็นว่าคุ้มค่าจากการจองซื้อ สำหรับการถือครองที่ไม่ถึง 3 สัปดาห์ แม้ว่าวันแรกที่ DW ตัวแรกคือ PTT 13CA เข้าซื้อขายนั้นให้ผลตอบแทนสูงสุดของวันที่ 16% และปิดให้ผลตอบแทน 4% ข้อดีของ KBAN13CA คือใช้เงินลงทุนซื้อ DW ต่อหน่วยที่ต่ำกว่าการซื้อตัวแม่คือ KBANK 1 หลักทรัพย์ที่ราคาปิด 72.25 บาท
นอกจากนี้ ในยามที่ราคาหุ้น KBANK กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น KBAN13CA ก็จะแกว่งตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะการเก็งกำไรนั่นเอง ตามลักษณะ call warrant นี้มีอายุอีก 6 เดือน
แต่ในความเป็นจริง ที่ราคาพื้นฐานของ KBANK ล่าสุดที่ 84.00 บาท เทียบกับราคาหุ้น KBANK ที่ 72.25 บาท ราคาปิดมีส่วนเพิ่มเทียบกับราคาพื้นฐานได้ 16% แต่ต้นทุนของผู้ที่ต้องการใช้สิทธิ์ต่อการแปลงเป็น 1 หุ้น KBANK นั้นสูงถึง 92.08 บาท (ประกอบด้วยต้นทุน DW 4 หน่วยที่ 10.40 บาท ที่ราคา IPO DW หน่วยละ 2.60 บาท และราคาใช้สิทธิ์ที่ 81.68 บาท) และสูงกว่าราคาพื้นฐานแล้ว 9.6% หรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า หากแปลงแล้วต้องการได้ผลตอบแทน 10% หรือ 15% ราคาหุ้น KBANK จะต้องปรับขึ้นไปถึง 101.29 หรือ 110.50 บาท ตามลำดับ เมื่อถึงวันหมดอายุ (15 ก.พ.53) หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นจากราคา KBANK ปัจจุบันถึง 40% หรือ 53% ตามลำดับ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่ง่ายเลยทีเดียว
จึงอาจกล่าวได้ว่า KBAN13CA เหมาะสำหรับการซื้อขายเก็งกำไรระยะสั้นเท่านั้น หากต้องการซื้อเพื่อลงทุน ควรซื้อเป็น KBANK ตัวแม่เลยจะดีกว่า เพราะใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่า
KBAN13CA ที่ราคา IPO 2.60 บาท